วันนี้ (4 มิ.ย.2561) นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ออกหนังสือแถลงกาณ์ในนามมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เรื่องแสดงความเป็นกังวลต่อเนื้อหาข่าวที่เผยแพร่ “10 เครื่องรางของขลังจากสัตว์ ไม่ต้องปลุกเสกก็มีฤทธิ์เดชเหลือล้น แคล้วคลาดปลอดภัย”
จากสำนักข่าวแห่งหนึ่ง
แถลงการณ์ ระบุว่าตามที่สำนักข่าวแห่งหนึ่ง ได้เผยแพร่ข่าว เรื่อง “10 เครื่องรางของขลังจากสัตว์ ไม่ต้องปลุกเสกก็มีฤทธิ์เดชเหลือล้น แคล้วคลาดปลอดภัย” เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยมีพาดหัวข่าวและเนื้อหาข่าวเกี่ยวกับการนำชิ้นส่วนของสัตว์ป่า มาเป็นเครื่องรางของขลัง อาจเป็นการทำให้ประชาชนหลงเชื่อและเกิดความต้องการซื้อ ขาย และนำไปสู่การส่งเสริมล่าสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่การซื้อและขายเครื่องรางที่ผลิตจากซากสัตว์ป่าถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ในฐานะมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเป็นองค์กรที่ทำงานด้านการอนุรักษ์จึงขอแสดงความเป็นกังวลต่อเนื้อหาข่าวที่ทางสำนักข่าวทีนิวส์ได้เผยแพร่ไปโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสือโคร่ง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองและมีสถานะการอนุรักษ์ คือ ใกล้สูญพันธุ์ ตามสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ได้ประเมินไว้
พะยูน เป็นสัตว์ป่าสงวนและมีสถานะการอนุรักษ์ คือ มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ รวมไปถึงสัตว์สัตว์ทะเลหายากอย่างโรนิน (กระเบนท้องน้ำ) ถึงแม้ไม่มีกฎหมายในประเทศไทยคุ้มครอง แต่มีสถานะการอนุรักษ์ คือ มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์
นอกจากนี้ยังมีชิ้นส่วนของสัตว์ป่าชนิดอื่นที่อยู่ในบัญชี สัตว์ป่าคุ้มครองของไทย เช่น หมูป่า กวางป่า ทั้งนี้ตามกฎหมายผู้ใดครอบครองสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองซากของสัตว์ป่า มีโทษจำคุก ปรับเงิน หรือทั้งจำและปรับ และผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้จากการเพาะพันธุ์ โดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุก ปรับเงิน หรือทั้งจำและปรับเช่นกัน
ดังนั้นการเผยแพร่ข่าวดังกล่าวจึงไม่ต่างกับการส่งเสริมให้ประชาชนกระทำผิดตามกฎหมาย พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 อีกทั้งยังถือเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหลงเชื่อและนำไปสู่การซื้อ ขาย และสนับสนุนการล่าสัตว์ป่ามากขึ้น
โดยหวังว่าสำนักข่าว จะพิจารณาความเหมาะสมในการลงเผยแพร่บทความดังกล่าว รวมถึงการพิจารณาบทความอื่นที่อาจเป็นการส่งเสริมให้สาธารณะชนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ในการบริโภคผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า
อ่านข่าวเพิ่มเติม
วางขาย หนามส่วนหลัง"โรนิน" ในสุสานหอย 75 ล้านปี