ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

The EXIT : เปิดกลลวงนายหน้า "หนี้นอกระบบ" ทำสัญญาขายฝาก

อาชญากรรม
21 มิ.ย. 61
12:12
5,803
Logo Thai PBS
The EXIT : เปิดกลลวงนายหน้า "หนี้นอกระบบ" ทำสัญญาขายฝาก
ชาว จ.ศรีสะเกษ เดือดร้อนหนัก ผืนนามรดกปู่ย่า-ตายาย ต้องสูญเสียให้กับนายทุน หลงเชื่อนายหน้าปล่อยเงินกู้ในคราบสำนักงานทนายความลวง ใช้เล่ห์กลกำหนดราคาประเมินสูง แต่กรอบระยะเวลาชำระหนี้สั้น
สูญเสียหมดแล้วผืนนา และ บ้านที่เติบโตมาตั้งแต่เล็ก

คำพูดนี้น่าจะเป็นสิ่งที่คำบอกเล่าเรื่องราวปนคราบน้ำตาของชาวบ้าน อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ได้อย่างชัดเจน เมื่อต้องทนทุกข์ทรมานกับปัญหาหนี้สินนอกระบบจากการทำสัญญาขายฝากนับล้านบาท

จุดเริ่มต้นการเป็นหนี้นอกระบบของชาวนาคนหนึ่งใน อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ เกิดขึ้นเมื่อเธอมีความจำเป็นต้องการเงินจำนวน 240,000 บาท เพื่อไปชำระหนี้สิน รวมถึงต้องการไถ่ถอนโฉนดที่นาออกจากญาติจำนวน 40,000 บาท
เธอจึงตัดสินใจก้าวเท้าเข้าสู่หนี้นอกระบบ ด้วยการติดต่อนายหน้า เพราะเห็นว่านายหน้าเป็นคนในสำนักงานทนายความ และเคยไปป่าวประกาศต่อคนในชุมชน ว่าสามารถหาเงินทุนแก้ไขหนี้สินเกษตรกรในอัตราดอกเบี้ยร้อยละบาท ถูกกว่าที่รัฐบาลกำหนด

15 มี.ค.60 เธอทำนิติกรรมสัญญาจำนองที่ดินกับนายทุนคนแรกชาว จ.สุรินทร์ ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน 2 แปลง เป็นโฉนดที่นาและโฉนดบ้าน ทำสัญญาจำนองที่ดิน 230,000 บาท การทำสัญญาครั้งแรก เธอได้รับเงินเพียง 58,460 บาท ไม่ตรงตามสัญญา

 

เงินที่หายไปนายหน้าอ้างกับผู้กู้ว่าต้องหักค่าไถ่โฉนดออกจากญาติ 40,000 บาท ค่าทนายความ 8,000 บาท ค่าทำเนียมสำนักงานที่ดิน และค่านายหน้า รวมถึงต้องหักเงินต้นรวมดอกเบี้ยร้อยละ 5

ฉันก็ไม่รู้เงินหายไปไหน ฉันไม่ได้เจอนายทุนเลย มีแต่นายหน้าเดินเรื่องกับสำนักงานที่ดิน ฉันเซ็นเอกสารตามที่นายหน้าบอกเพราะอ่านหนังสือไม่ค่อยออก

นี่เป็นคำยืนยันที่ผู้กู้ระบายด้วยเสียงสั่นเครือ

The EXIT พบขั้นตอนสัญญาขายฝากที่ดิน ด้วยการประเมินราคาสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดทั้ง 2 โฉนด แยกเป็นโฉนดนา เนื้อที่ 1 งาน 99 ตารางวา ราคาประเมินของภาครัฐ ตารางวาละ 80 บาท รวม 15,920 บาท

ส่วนโฉนดบ้าน มีสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านไม้ 2 หลัง เนื้อที่ 1 งาน 23 ตารางวา ตารางวาละ 150 บาท ราคาประเมิน 18,450 บาท

หากนำราคาของภาครัฐมาประเมินทั้ง 2 โฉนด จะอยู่ที่ 34,370 บาท แต่การทำสัญญาจำนองที่ดินในครั้งแรกสูงถึง 230,000 บาท แม้ว่าจะเป็นโฉนดที่นาไม่มีทางเข้าออก หรือที่เรียกว่าทีดินตาบอด

17 มี.ค.60 นายหน้าคนเดิมติดต่อให้ผู้กู้เดินทางไปสำนักงานที่ดิน อ.ปรางค์กู่ อ้างว่าให้ไถ่ถอนโฉนดบ้านออกจากนายทุนคนแรก และทำสัญญาจำนองที่ดินกับนายทุนคนใหม่ชาว จ.กาฬสินธุ์ ทันที ระบุในสัญญาจำนองที่ดิน 432,000 บาท

ขั้นตอนการเซ็นเอกสารก็ออกมาลักษณะเดิม คือผู้กู้เซ็นตามที่นายหน้าบอก รวมถึงช่วงเวลาทำสัญญาเย็นแล้ว เจ้าหน้าที่จึงเร่งให้ผู้กู้เซ็นไปตามที่บอก
หลังจากทำสัญญากับนายทุนคนที่ 2 แล้วเสร็จ ปรากฏว่านายทุนไม่ยอมจ่ายเงินตามที่ระบุในสัญญา 432,000 บาท ให้ผู้กู้แม้แต่บาทเดียว แต่กลับจ่ายเงินให้นายทุนคนแรกเป็นเงิน 180,000 บาท เท่ากับว่าผู้กู้ถูกนายทุนแรกโกง

 

เวลาแค่ 2 วัน ที่ผู้กู้เอาเงินจากนายทุนคนแรก ไปไถ่โฉนดออกมาจากญาติ แต่ถูกนายทุนหักเงินจริงตามสัญญา จากเงินต้นที่รับจริงแค่ 58,460 บาท

การจ่ายเงินเช่นนี้เท่าเป็นการยัดเยียดให้ผู้กู้ต้องติดหนี้นายทุนคนที่ 2 เป็นเงิน 180,000 บาท ด้วยกลโกงแผนโยกหนี้ของนายทุนต่อนายทุนนั่นเอง วิธีการเปลี่ยนมือนายทุน เพื่อให้ลูกหนี้กลายเป็นหนี้ก้อนใหม่ที่มากกว่าเดิม

เมื่อการทำสัญญาทั้ง 3 ครั้ง ยังไม่ได้เงินเพียงพอที่จะไปชำระหนี้สิน เธอจึงติดต่อหานายหน้าอีกครั้ง แต่กลับถูกนายหน้าหลอกให้ไถ่โฉนดออกจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ซึ่งนายหน้ายอมจ่ายเงินไถ่โฉนดให้ชาวบ้าน 130,000 บาท เมื่อได้โฉนดนาออกมาแล้ว นายหน้ายึดโฉนดไว้ไม่ให้ชาวบ้านถือ แต่พาชาวบ้านไปที่สำนักงานที่ดินในเย็นวันนั้น เพื่อพบกับนายทุนคนที่ 3 ทำสัญญาขายฝากที่นา ระบุในสัญญา 350,000 บาท ทันที

 

หลังจากเซ็นเอกสาร นายหน้านำเงินที่ได้จากนายทุนไปให้ผู้กู้ถ่ายรูปรับเงิน ก่อนแบ่งเงินให้ผู้กู้เพียง 90,000 บาท อ้างว่าเงินที่เหลือหักไปจ่ายค่ากู้เอาโฉนดที่นา 7 ไร่ ออกจากธนาคาร พร้อมเงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงจ่ายค่าทำเนียมการขายฝากให้กับสำนักงานที่ดิน 18,334 บาท และต้องเสียค่านายหน้าด้วย

 

ระยะเวลาเพียง 14 วัน ลูกหนี้รายนี้ถูกหลอกให้ทำสัญญาถึง 3 ครั้ง 3 สัญญา กับ 3 นายทุน กลายเป็นหนี้ 1,154,500 บาท แต่กลับได้เงินเพียง 148,460 บาท

กลลวงการทำสัญญาขายฝากและการโยกหนี้ มีวิธีการซับซ้อนทำให้ชาวบ้านตามเล่ห์เหลี่ยมไม่ทัน ส่งผลให้ชาวบ้าน อ.ปรางกู่ และ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ มีผู้เสียหายมากถึง 20 ราย ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดเริ่มต้นจากนายหน้า

ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า อ.ปรางค์กู่ และ อ.ขุขันธ์ มีนายหน้าทั้งหมด 7 คน หนึ่งในนายหน้าสร้างความหน้าเชื่อถือด้วยก่อตั้งสำนักงานทนายความ อ้างว่าแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ

The EXIT เข้าตรวจสอบตามคำบอกเล่าของดีเอสไอ พบว่าปัจจุบันสำนักงานทนายความที่อ้างถึงถูกทิ้งร้าง หลังบ้านมีรถจักรยานยนต์ตำรวจจอดเสียอยู่ การตรวจสอบเพื่อค้นหาความจริงว่า สำนักงานทนายความที่อ้างถึงนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เป็นหน้าที่ของจังหวัด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับการชี้แจงจากผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ

สำนักงานที่ถูกอ้างว่าเป็นของนายหน้าเงินกู้

สำนักงานที่ถูกอ้างว่าเป็นของนายหน้าเงินกู้

สำนักงานที่ถูกอ้างว่าเป็นของนายหน้าเงินกู้

สำหรับพฤติกรรมของนายหน้า 7 คนนี้ ตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ทราบว่า แต่ละคนจะแบ่งพื้นที่รับผิดชอบหาเหยื่อที่ต้องการกู้เงินนอกระบบ เมื่อหาเหยื่อได้จะติดต่อหานายทุนในพื้นที่และนอกพื้นที่ รวมแล้วกว่า 20 คน บางคนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ การปล่อยเงินกู้ด้วยการทำสัญญาขายฝากเป็นที่นิยมของนายทุนกลุ่มนี้ เพราะสามารถกำหนดเงินในสัญญาขายฝากได้สูง แต่กรอบระยะเวลาชำระหนี้สั้น ทำให้ชาวบ้านไม่สมารถชำระหนี้ได้ทัน ใน จ.ศรีสะเกษ จึงมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก

ล่าสุดเจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ได้ติดต่อกลุ่มนายทุนเข้าพบเพื่อไกล่เกลี่ยกับผู้เสียหาย โดยนายทุนส่วนใหญ่ ยอมลดหนี้ให้กับลูกหนี้ตามที่กู้และได้รับเงินจริง รวมถึงยอมต่อสัญญาขายฝากที่ดินที่หมดสัญญาชำระหนี้ ให้กับเจ้าหน้าที่กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมเงินแก่เกษตรกร (อชก.) เพื่อนำหนี้นอกระบบของชาวบ้านเข้าสู่ระบบ และให้ชาวบ้านชำระหนี้ผ่าน อชก. แทน เมื่อครบกำหนดจะได้รับโฉนดที่นามรดกกับคืน

ปัจจุบันปัญหาหนี้นอกระบบใน จ.ศรีสะเกษ ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ดีเอสไอจับตามอง โดยเฉพาะนายหน้าที่มีพฤติกรรมหลอกลวงชาวบ้าน เพื่อหาข้อกฎหมายดำเนินคดี

อิทธิพล เอี่ยมเชย ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

ชมย้อนหลัง >>
The EXIT ตอน เครือข่ายหนี้เถื่อน EP.1

The EXIT ตอน เครือข่ายหนี้เถื่อน EP.2

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง