ที่ผ่านมาทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย จะได้รับงบประมาณในแต่ละปีจากรัฐบาลเพื่อไปดำเนินการพัฒนาจังหวัดของตัวเอง ต่อมารัฐบาลมีแนวคิดแบ่งกลุ่มจังหวัดขึ้น พร้อมกับสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมนอก เหนือจากงบประมาณที่ทุกจังหวัดได้รับอยู่แล้ว เพื่อให้กลุ่มจังหวัดเสนอโครงการพัฒนาจังหวัดที่สอดคล้องกันภายในกลุ่มจังหวัดขึ้นมา โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่อยู่ในกลุ่มจังหวัดผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธานกลุ่มจังหวัด ปัจจุบันแบ่งเป็น 6 ภาค 18 กลุ่มจังหวัด
หนึ่งในนั้นคือกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ประกอบด้วย จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง โดยให้ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด
ดูเหมือนว่าบางโครงการใน จ.นครศรีธรรมราช ที่นำเงินงบประมาณกลุ่มจังหวัดไปดำเนินการกำลังถูกร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ จนนำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริง
แม้เป็นอาคารแบบเปิดโล่ง แต่กลับติดตั้งเครื่องปรับอากาศถึง 4 เครื่อง นี่เป็นสาเหตุให้อาคารอเนกประสงค์ในโครงการพัฒนาศักยภาพพื้นที่บริเวณปลายแหลมตะลุมพุกเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าแหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ที่ใช้งบประมาณกลุ่มจังหวัดประจำปีงบประมาณ 2559 จำนวนกว่า 23 ล้านบาทดำเนินการก่อสร้าง ถูกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ
อาคารอเนกประสงค์หลังนี้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นจุดพักผ่อนและศึกษาธรรมชาติแก่นักท่องเที่ยวหรือนักเรียนนักศึกษา แต่หลังจากสร้างเสร็จเกือบ 1 ปี ยังไม่เคยได้เปิดใช้งาน
เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และเจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า แบบก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์หลังนี้ ออกแบบอาคารให้มีช่องระบายอากาศและมีพื้นที่เปิดโล่ง แต่กลับมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศทั้งภายในและภายนอกอาคารรวม 10 เครื่อง ไม่นับรวมพัดลมอีกจำนวนหนึ่ง
ยังมีอีกอย่างน้อย 3 โครงการของ จ.นครศรีธรรมราช ที่ใช้งบประมาณกลุ่มจังหวัดประจำปีงบประมาณ 2560 ที่ถูกตรวจสอบอยู่ในขณะนี้ คือการติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV ให้กับสถานีตำรวจภูธร 32 แห่งใน จ.นครศรีธรรมราช และการติดตั้งชุดโคมไฟส่องสว่างด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้ง 2 โครงการย่อยนี้อยู่ในโครงการเพิ่มศักยภาพรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว งบประมาณรวบกันกว่า 400 ล้านบาท
นายประพนธ์ รักษ์เกลี้ยง ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 14 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า สตง.กำลังตรวจสอบโครงการของ จ.นครศรีธรรมราช ที่พบรายงานความผิดปกติเหล่านี้อยู่ โดยขณะนี้ สตง.ได้สรุปกรณีโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการนี้ อาจเข้าข่ายกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการตรวจสอบต่อไป
อีกโครงการหนึ่งที่ถูกตรวจสอบเช่นกันคือ โครงการฟื้นฟูคลองเก่า สร้างคลองใหม่ พัฒนาคลองซอย ต.สามตำบล อ.จุฬาภรณ์ ซึ่งสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 14 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบพบความผิดปกติเกี่ยวกับแบบขุดคลองทั้ง 15 สาย โดยพบว่าไม่มีการขนดินตามที่ประเมินราคากลางไว้ จึงทำการเรียกเงินคืน
“ทำโครงการหมดเงิน 10 ล้าน 100 ล้าน แล้วโครงการไม่ได้ใช้ ถึงไม่คอร์รัปชั่น แต่ถือว่าผิดพลาดด้านการบริหาร เอางบประมาณไปใช้ไม่เกิดประโยชน์” รศ.ตระกูล มีชัย รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ตระกูล มีชัย รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ต้องตรวจสอบเรื่องความคุ้มค่าของการตัดสินใจทำโครงการเหล่านั้นด้วย จึงจะได้ไม่เกิดปัญหาถนนควายเดิน ในกระบวนการตรวจสอบขณะนี้ต้องเข้าใจว่าเราไม่มีสภา เราไม่มี ส.ส.ระดับพื้นที่ในการตรวจสอบ องค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ จึงต้องทำหน้าที่อย่างจริงจัง
ชมรายการเปิดปม ตอน ละลายงบกลุ่มจังหวัด