วันนี้ (15 ก.ค.2561) นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุพืช พร้อมด้วยนายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ.2554 ลงพื้นที่วนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อตรวจดูพื้นที่ก่อสร้างศาลาพิพิธภัณฑ์ น.ต.สมาน กุนัน อดีตหน่วยซีลที่เสียชีวิต ในระหว่างปฎิบัติภารกิจช่วยเหลือชีวิตทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี ที่ติดถ้ำหลวง
โดยเบื้องต้นพบพื้นที่บริเวณหน้าถ้ำหลวง พื้นที่ประมาณ 50 คูณ 40 เมตรเป็นจดที่เหมาะสม แต่อยู่ในเขตป่าสงวนของกรมป่าไม้ โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะทำเรื่องขอใช้พื้นที่ตามขั้นตอนกฎหมายโดยเร็วที่สุด
สำหรับพิพิธภัณฑ์จ่าแซม หรือ น.ต.สมาน อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินท้องถิ่น จ.เชียงราย เป็นผู้ออกแบบอาคาร และควบคุมการก่อสร้างทั้งหมด ได้ตั้งงบประมาณ 10 ล้านบาท โดยจะนำรูปปั้นจ่าแซมขนาดขนาดเกือบ 2 เท่าของตัวจริง ยืนอยู่บนฐานสูงประมาณ 170-180 เซนติเมตร หันายสราวุฒิ คำมูลชัย ศิลปินรุ่นใหม่ จ.เชียงราย เป็นผู้ปั้นไปตั้งไว้ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน และภาพวาดที่ศิลปินกว่า 100 ชีวิตร่วมกันวาดขึ้นบนผ้าใบอะคริลิกขนาด 3 คูณ 13 เมตร เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ นายเฉลิมชัย สั่งวาดภาพบุคคลสำคัญเพิ่มเติมนางธวินท์ มาศลือเลิศ จิตอาสาซักผ้าให้เจ้าหน้าที่หน่วยซีลลงบนผ้าใบอะคริลิกด้วย
อนุสาวรีย์จ่าแซม เลือกภาพตอนใส่ชุดดำน้ำ มีถังออกซิเจนข้างหลัง มือซ้ายถือหมวก เป็นความมุ่งมั่นใจการที่จะเข้าไปที่ถ้ำหลวง และต้องการจุดที่เลือกให้เห็นว่าความคิดของจ่าแซม มีรอยยิ้มและมุ่งมั่น อยากให้หันหน้าหน้าเข้าถ้ำหลวง ด้านล่างล้อมรอบไปด้วยหมูป่า 13 ชีวิต
เร่งฟื้นฟูถ้ำหลวง-จัดระบบคุมเข้มความปลอดภัย
นายธัญญา กล่าวอีกว่า ส่วนแผนพัฒนาพื้นที่วนอุทยานถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน ในระยะเร่งด่วน คือ การปิดถ้ำ ไม่ให้ประชาชน หรือนักท่องเที่ยวเข้าไปส่วนแผนพัฒนาในอนาคตจะติดตั้งกล้องวงจรปิด ระบบไฟฟ้า มีการลงทะเบียนเข้าออกถ้ำที่ชัดเจน รวมทั้งจัดทำระบบดูแลความปลอดภัย ทั้งที่ถ้ำหลวง และถ้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ
ส่วนข้อเสนอให้ประกาศวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เป็นอุทยานแห่งชาติ นายธัญญา เปิดเผยว่า ได้สั่งสำรวจพื้นที่ และสอบถามความคิดเห็นของประชาชน แต่ยอมรับว่า การประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ จะเอื้อในการบริการจัดการ เพราะสามารถจัดเก็บรายได้นำมาพัฒนาพื้นที่ได้