ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิชาการจี้รัฐบาล "จัดระเบียบ" ปชช.ในพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม

ภัยพิบัติ
11 ส.ค. 61
11:08
721
Logo Thai PBS
นักวิชาการจี้รัฐบาล "จัดระเบียบ" ปชช.ในพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม
นักวิชาการเรียกร้องรัฐบาลออกกฎหมายจัดระเบียบพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม หลังพบหลายพื้นที่มีการบุกรุกสร้างที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน พร้อมแนะประชาชนให้ออกจากในพื้นที่เสี่ยงเพื่อความปลอดภัย

วันนี้ (10 ส.ค.2561) รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หน่วยวิจัยดินถล่ม ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในการแถลงข่าว “ดินถล่มและระบบเตือนภัยในประเทศไทย” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ว่า เราอยู่ในพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม เมื่อย้อนอดีตจะพบว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นซ้ำๆ กัน ประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม ได้แก่ พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ตามร่องเขา ร่องน้ำ และตีนเขาที่มีร่องรอยดินถล่มเดิม

สำหรับเหตุการณ์ดินถล่มที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือของประเทศในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ปัจจัยการเกิดมีทั้งทางธรรมชาติและจากมนุษย์ที่บุกรุกเข้าไปปรับพื้นที่ลาดเชิงเขาเพื่อเข้าไปอยู่อาศัย และเป็นพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ รวมถึงเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะแยกออกจากกันได้ เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับประเทศที่ยังแก้ไขไม่ได้


มีความซับซ้อนของสังคมในอดีต ที่มีการขยับขยายอพยพมาจากที่อื่น หลายสัญชาติ หลายเชื้อชาติ การออกไปจะมีใครการันตีได้ไหมว่าพวกเขาจะมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน

 

รศ.สุทธิศักดิ์ กล่าวอีกว่า หลายพื้นที่บนดอยเป็นพื้นที่เสี่ยงไม่ควรอยู่อาศัย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ จะให้ประชาชนออกจากพื้นที่ได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุดินถล่มเกิดขึ้น แล้วใช้กฎหมาย ปภ.ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ และสั่งห้ามเข้าไปอยู่อาศัย ขณะเดียวกันโครงสร้างบ้านบนดอยเปลี่ยนไปเพราะความเจริญ จากบ้านไม้กลายเป็นคอนกรีต ปัญหานี้ก็ไม่สามารถใช้กฎหมายควบคุมอาคารเข้าไปจัดการได้ 

พื้นที่บนดอย จะนำกฎหมายควบคุมอาคารเข้าไปควบคุมไม่ได้ เพราะไม่ใช่พื้นที่ที่เป็นเขตควบคุมอาคารตามกฎหมาย บางพื้นที่เป็นเขตป่าไม้ กฎหมายควบคุมใช้กับพื้นที่ป่าไม้และอุทยานฯ ไม่ได้ นี่จึงเป็นความซับซ้อนที่เกิดขึ้น ประชาชนก็ต้องอยู่ไปอย่างไม่ปลอดภัย


ทั้งนี้ รศ.สุทธิศักดิ์ เสนอว่า รัฐบาลควรเข้ามาจัดระเบียบพื้นที่เสี่ยงดินถล่มว่าจะให้ประชาชนออกจากพื้นที่ แล้วจ่ายค่าชดเชย หรือจะทำให้พื้นที่เสี่ยงนั้นเป็นที่อยู่อาศัยและทำกินที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะหากเป็นพื้นที่ที่ถูกกฎหมายแล้ว รัฐบาลก็สามารถจัดสรรงบประมาณทำเครื่องมือป้องกันดินถล่มให้ประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่ได้ปลอดภัยยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมและไม่มีการจัดระเบียบจากภาครัฐ ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงดินถล่มสามารถป้องกันตัวเองได้ ด้วยการออกจากพื้นที่เสี่ยง หากจำเป็นต้องอยู่ก็ไม่ควรปรับพื้นที่ลาดชันให้มีความชันมากขึ้นกว่าเดิม โครงสร้างบ้านต้องเบาและมีความยืดหยุ่นที่ดี หากอยู่บริเวณตีนเขาพยายามหลีกเลี่ยงไม่ตัดตีนเขา และขยับบ้านให้ห่างจากตีนเขา ให้มีระยะเว้นเท่ากับความสูงของเขา เช่น เขาสูง 5 เมตร ต้องเว้นระยะบ้านห่างจากตีนเขา 5 เมตร แต่หากทำระยะเว้นไม่ได้ ก็ให้ปรับห้องต่างๆ ในบ้าน โดยห้องที่ติดกับตีนเขา ต้องไม่ใช่ห้องนอน เพราะหากเกิดดินถล่มจะได้ไม่เกิดความสูญเสีย

 

ขณะที่ น.ส.สุธาสินี อาทิตย์เที่ยง วิศวกรโยธาปฏิบัติการ สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมฯ กำลังร่างกฎหมายเกี่ยวกับดินถล่มเพื่อบังคับใช้ในอนาคต โดยข้อมูลทางวิชาการเบื้องต้นจะถูกนำไปอ้างอิงในการกำหนดมาตรการแต่ละพื้นที่ ทั้งพื้นที่เสี่ยงภัยระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล โดยมาตรการหลักในทางวิศวกรรมจะมีการกำหนดการก่อสร้างลักษณะอาคาร ต้องห่างจากบริเวณดินถล่ม สร้างกำแพงคันดิน

ส่วนมาตรการทางกฎหมายต้องกำหนดความลาดชันที่เหมาะสม บริเวณที่ห้ามก่อสร้าง ข้อบังคับมาตรการการป้องกันการพังทลายของสิ่งปลูกสร้าง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง มาตรการการพังทลายของดิน การขุดดิน ถมดินที่ถูกต้อง ไม่กีดขวางทางน้ำ ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการควบคุมอาคาร ส่งต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อกำหนดกฎหมายต่อไป

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง