วันนี้ (21 ส.ค.2561) ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต รายงานระดับน้ำแม่น้ำโขงว่า ระดับน้ำสูงขึ้นจากฝนตกหนักในลาว และแนวโน้มระดับน้ำสูงเพิ่มขึ้น โดยล้นตลิ่งที่ จ.หนองคาย และต้องเฝ้าระวังบริเวณ จ.นครพนม และ จ.อุบลราชธานี
สอดคล้องกับข้อมูลของ คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ (ThaiWater) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) รายงานว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำโขงยังมีน้ำมากและล้นตลิ่ง
พท.ระดับน้ำมากกว่าความจุลำน้ำ (วิกฤต)
สถานีวัดน้ำอากาศอำนวย ต.โพนงาม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร น้ำล้นตลิ่งที่ระดับ 138.19 เมตร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สถานีวัดน้ำบ้านม่วง ต.ห้วยหลัว อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร มีน้ำมาก ระดับ 153.62 เมตร ยังไม่ล้นตลิ่งและมีแนวโน้มทรงตัว
พท.ระดับน้ำ มากกว่า 70.01% ของความจุลำน้ำ (เฝ้าระวังพิเศษ)
สถานีวัดน้ำสุวรรณคูหา ต.นาสี อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู มีน้ำมาก ระดับ 197.71 เมตร แนวโน้มทรงตัว
สถานีวัดน้ำบ้านดุง ต. นาคำ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี น้ำมาก ระดับ 161.27 เมตร แนวโน้มทรงตัว
สถานีวัดน้ำศรีสงคราม ต.ศรีสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม มีน้ำมาก ระดับน้ำ 144.7 เมตรแนวโน้มทรงตัว
สถานีวัดน้ำสว่างแดนดิน ต.โพนสูง อ.สว่างแดนดิน จ. สกลนคร มีน้ำมาก ระดับ 155.93 เมตร แนวโน้มลดลง
น้ำโขงเพิ่ม – บ้านทรุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำในแม่น้ำโขงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบบ้านเรือนที่อยู่ติดลำน้ำในอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ทรุดพังกว่า 20 หลัง
นางทองคำ ชาติราษฎร์ ชาวตำบลผาตั้ง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย และเป็น 1 ใน 24 หลัง ที่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว น้ำโขงไหลเข้ามาที่ลำห้วยน้ำโสม และกัดเซาะตลิ่งจนบ้านทรุดพัง
นางทองคำ กล่าวว่า เมื่อ 3 วันก่อนตลิ่งหลังบ้านเกิดทรุดพังช่วงกลางดึก ทำให้ระเบียงหลังบ้านทรุดตัว
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นองค์การบริหารส่วนตำบลผาตั้ง เข้ามาสำรวจความเสียหายแล้ว พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาระยะยาว โดยทำแนวคันพนังกั้นน้ำป้องกันตลิ่งทรุดพัง หลังพบว่าตลอด 5 ปี น้ำได้กัดเซาะตลิ่งทำให้ที่ดินหลังบ้านสูญหาย
ที่จังหวัดบึงกาฬ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังสูงขึ้นต่อเนื่อง วัดได้ 13 เมตร สูงสุดในรอบ 12 ปี ในพื้นที่ลุ่มต่ำ 4 อำเภอคือ อำเภอเมืองบึงกาฬ ปากคาด บุ่งคล้า และบึงโขงหลง ทหารเข้าช่วยเหลือชาวบ้านขนย้ายสิ่งของไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัย