วันนี้ (5 ต.ค.2561) นายโสภณ หนูรัตน์ ทนายความของสภาทนายความคุ้มครองผู้บริโภค นำญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รถตู้โดยสารสายกรุงเทพ-จันทบุรี ชนประสานงานกับรถกระบะ บนถนนสาย 344 เส้นบ้านบึง-แกลง ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 25 คน เมื่อวันที่ 2 ม.ค.ปี 2560 ที่ผ่านมา มาฟังการพิจารณาคดีของศาลจังหวัดจันทบุรี
ศาลพิจารณาคดีนาน 3 ชั่วโมง โดยศาลยกฟ้องคดีแพ่ง บริษัทรถตู้ เนื่องจากนายสุมนต์ เอี่ยมสมบัติ คนขับรถตู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และยังไม่ได้บรรจุเป็นพนักงานของบริษัท จึงไม่เข้าข่ายความผิด แต่ได้ให้ บขส.เป็นผู้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินรวมจำนวน 26 ล้านบาท โดยผู้ที่ได้มากที่สุด คือ นายพรหมพต กอศิริวรานนท์ นิสิตคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ชดใช้เป็นเงิน 8,000,000 บาท และลดหลั่นลงมา โดยส่วนใหญ่จะได้ค่าทดแทนรายละ 500,000 บาท
นายโสภณ เปิดเผยว่า ยังไม่พอใจกับคำพิพากษา เนื่องจากที่ บขส.จะจ่ายเงินชดเชยครอบครัวผู้เสียชีวิตคนละ 500,000 บาทนั้นยังไม่เพียงพอ เห็นควรว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย จึงจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป ซึ่งคดีนี้อาจต้องต่อสู้ไปจนถึงศาลฎีกา
ขณะที่ นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ บขส.ยังไม่ได้รับเอกสารคำพิพากษาอย่างเป็นทางการจากศาล ซึ่งขณะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นตนเองยังไม่ได้เข้ามารับตำแหน่ง แต่ บขส.ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ และพร้อมที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต แต่เนื่องจาก บขส.เป็นรัฐวิสาหกิจจึงมีขั้นตอนในการพิจารณา
ส่วน บขส.จะดำเนินการอุทธรณ์ต่อหรือไม่นั้น ภายใน 2-3 สัปดาห์นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการด้านกฎหมาย ก่อนเสนอให้บอร์ด บขส.พิจารณาเห็นชอบในการจ่ายสินไหม โดยจะพิจารณาแต่ละรายให้มีความถูกต้องเหมาะสม และจะพิจารณาแนวทางการดำเนินการต่อไป
จัดระเบียบรถตู้ บขส. คุมเข้มความปลอดภัย
สำหรับรถตู้โดยสารคันที่เกิดเหตุเป็นผู้ประกอบการเจ้าของรถเพียงรายเดียว ทำให้ บขส.จะต้องดำเนินการจ่ายค่าชดเชยไปก่อน แล้วจึงเรียกร้องความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทางเจ้าของรถตู้ภายหลัง ซึ่งรถตู้ภายใต้การกำกับของ บขส.ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่ยังไม่ได้เป็นสหกรณ์หรือนิติบุคคลจึงยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาในการเปลี่ยนให้ผู้ประกอบการเป็นนิติบุคคล ซึ่งกระบวนการเหล่านี้แต่ต้องค่อยดำเนินการ เพราะต้องคำนึงถึงผลกระทบและความพร้อมของผู้ประกอบการ
ส่วนมาตรการเข้มงวดความปลอดภัยของรถร่วม บขส. ทั้งบัส และรถตู้หมวด 2 เส้นทางกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด ระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตรที่อยู่ในความดูแลของ บขส.
ทั้งนี้ ปัจจุบันบขส.ได้จัดตั้งสถาบันการฝึกอบรมทักษะการขับรถโดยสารสาธารณะขั้นสูง ที่นำร่องพนักงานขับรถของ บขส. เข้าอบรมทักษะและความปลอดภัยในการขับรถแล้ว 200 กว่าคน ภาพรวมมีพฤติกรรมการขับรถไม่เกิดอุบัติเหตุ ส่วนรถได้ดำเนินการติดตั้งจีเอส ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง เข็มขัดนิรภัย และมีทางออกฉุกเฉิน รวมทั้งรถตู้เมื่อครบอายุใช้งาน 10 ปีต้องเปลี่ยนรถใหม่ เพื่อความปลอดภัย