วันนี้ (15 ม.ค.2562) ศ.ดร.อุษณีย์ วินิจเขตคำนวน นักวิชาการอดีตอาจารย์ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า จ.เชียงใหม่ เผชิญปัญหาฝุ่นมานาน ซึ่งมักจะเกิดสถานการณ์ฝุ่นในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ของทุกปี
ในช่วงปี 2551 ศ.ดร.อุษณีย์ จึงได้ทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยชาวอเมริกันจากมหาวิทยาลัยนอร์ท แคโรไลนา เกี่ยวกับประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัย ซึ่งตั้งเป้าหมายในการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5)
จากการศึกษาการใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นชนิด 3M 8210, N 95 และ 3M 9002A สามารถลดระดับ PM 2.5 ในอากาศทั้งภายนอกและภายในอาคารได้มากกว่าร้อยละ 80 ส่วนหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด (Dura) หรือหน้ากากอนามัยทั่วไป สามารถลดระดับของ PM 2.5 ได้ประมาณร้อยละ 20-30 เท่านั้น แต่เมื่อใช้กระดาษทิชชู 2 แผ่น ซ้อนอยู่ในหน้ากากอนามัย สามารถลดระดับ PM 2.5 ได้ดีขึ้น ถึงมากกว่าร้อยละ 70
หน้ากาก N 95 นั้น มีราคาแพงและทำให้ผู้ใส่รู้สึกอึดอัด ทางเลือกสำหรับประชาชน คือ หน้ากากอนามัยแบบธรรมดา ซ้อนทิชชู่ 2 ชั้นก็กันฝุ่นได้ใกล้เคียงกับหน้ากากอนามัยชนิด N 95 มาก
ทั้งนี้ ศ.ดร.อุษณีย์ ระบุว่า แม้สถานการณ์ฝุ่นในกรุงเทพมหานครจะมีมากขึ้น แต่ไม่แนะนำให้ประชาชนปิดสถานที่หรือห้องต่างๆ อย่างมิดชิด เพราะเกรงว่าจะได้รับฝุ่นมากเกินไป แต่ควรเปิดพัดลมและหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ เพราะการปิดหน้าต่างหรือห้องอย่างมิดชิดไม่ได้ป้องกันฝุ่นเข้าห้องและทำให้อากาศไม่ถ่ายเท
นักวิชาการแนะ 4 อันดับตัวเลือก ป้องกันฝุ่น
- หน้ากากอนามัย N 95
- หน้ากากอนามัยซ้อนด้วยกระดาษทิชชู 2 ชั้น
- ผ้าเช็ดหน้าซ้อนด้วยกระดาษทิชชู 2 ชั้น
- หน้ากากอนามัย 2 ชั้น
ศ.ดร.อุษณีย์ แนะนำว่า สำหรับกระดาษทิชชูที่จะใช้ในการซ้อนหน้ากากอนามัย แนะนำให้เป็นกระดาษซับหน้า โดยใช้กระดาษทิชชู 2 แผ่นพับครึ่งแล้วซ้อนไว้กับหน้ากากอนามัยจะช่วยให้มีประสิทธิภาพกันฝุ่นมากยิ่งขึ้น รวมทั้งหากกระดาษทิชชูเปียกน้ำเล็กน้อย ความชื้นของกระดาษก็จะช่วยดักจับฝุ่นไว้ได้มากยิ่งขึ้น