วันนี้ (20 ก.พ.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. ... ให้หน่วยงานรัฐควบคุมดูแลการผลิตและการค้าข้าวในระดับที่เข้มข้น โดยมีการพิจารณามาแล้ว 24 ครั้ง นับตั้งแต่ 25 ธ.ค.ปีที่แล้ว ถึง 15 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการตัดออก 16 มาตรา และปรับแก้ที่เหลือ แม้แต่คำปรารถ
ประเด็นทำให้เกิดกระแสตีกลับรุนแรง คือ การแก้ไข มาตรา 27/1 วรรค 3 เรื่องการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวจะจำหน่ายได้เฉพาะเมล็ดพันธุ์ที่กรมการข้าว รับรองแล้วเท่านั้น แม้จะมีข้อยกเว้นให้ชาวนาจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่ได้รับการรับรองให้แก่ผู้รวบรวมพันธุ์ข้าว แต่ผู้รวบรวมพันธุ์ข้าวไม่สามารถนำไปขายต่อได้
ลดโอกาสพัฒนา-ขายเมล็ดพันธุ์ข้าว
หากผู้รวบรวมนำไปขายต่อจะต้องระวางโทษจำคุก โดยมีนักวิชาการ ระบุว่า การขายเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกไรซ์เบอร์รี่ที่กำลังนิยมก็จะถือว่าผิดกฎหมายทันที เนื่องจากกรมการข้าวยังไม่ได้รับรองพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ จึงทำให้อาจถูกมองได้ว่าเป็นการจำกัดสิทธิเกษตรกรที่จะพัฒนาพันธุ์
หลังจากนั้นจึงมีการเปลี่ยนเป็นข้อความแบบนี้เข้า สนช.วาระ 2 และ 3 แทน ให้กรมการข้าวออกประกาศห้ามไม่ให้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้คุณภาพเป็นกรณีๆ ไป หากพบปัญหาข้าวปลอมปน
กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สนช.ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ข้าว ระบุว่า สนช.ต้องการให้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะแจกจ่ายชาวนาได้มีการรับรองคุณภาพ ไม่มีการปนเปื้อน และเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้คุณภาพจะได้ไปจากท้องตลาด ส่วนที่มีจำหน่ายอยู่แล้ว หรือพันธุ์ที่ได้รับรองจากกรมการข้าวแล้วก็สามารถจำหน่ายได้ตามปกติ เพราะฉะนั้นไม่มีโทษต่อชาวนาแต่อย่างใด
แม้ตัดส่วนปัญหาเดิมออกไปแต่ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรค เพราะปมใหม่ คือการให้กรมการข้าวที่ต้องใช้ดุลยพินิจ เข้าไปจัดการปัญหา เกิดคำถามว่าหลักเกณฑ์ใด จึงจะเรียกว่ามีปัญหารุนแรงพอ
คุ้มครองชาวนาหรือระบบผูกขาด ?
การให้อำนาจแก่กรมการข้าวในการควบคุมและลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าข้าว ก็เป็นอีกประเด็นถูกกระแสตีกลับ แม้ภายหลังลดทอนอำนาจลง แต่ยังเป็นการดึงอำนาจกรมวิชาการเกษตรมาให้ในการจดทะเบียนพันธุ์ข้าวใหม่ การออกใบรับรองพันธุ์ข้าวปัจจุบัน และตรวจสอบคุณภาพ
อำนาจของกรมกรมข้าวยังไปถึงผู้เกี่ยวข้องผูกพันกับการค้าข้าว ทั้งชาวนา โรงสี ผู้รับซื้อข้าวเปลือก ที่ต้องออกใบกำกับคุณภาพข้าวเปลือกให้ชาวนา และกรมการข้าว ทุกประเด็นถูกมองว่าไม่ได้ แก้ปัญหาอาชีพชาวนาและการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตข้าว
แม้มีสมาคมชาวนาบางกลุ่มสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ แต่นักวิชาการและชาวนาจำนวนมากพากันคัดค้าน เพราะหวั่นเกรงว่าข้าวที่ต้องผ่านการรับรองจะสร้างปัญหานำมาซึ่งการผู้ขาดทางธุรกิจ
ลุ้น สนช.พิจารณาปรับแก้วันนี้
แม้นายกรัฐมนตรีจะสั่งการให้ปรับแก้ไขบทบัญญัติที่จะส่งผลกระทบกับชาวนา ลดแรงกดดันจากการถูกกล่าวหา โจมตี แต่ร่าง พ.ร.บ.ข้าวยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ กระจายความสนใจให้สังคมได้รับรู้ และเกิดข้อสังเกตว่า สนช.หยิบยกร่างกฎหมายนี้ พิจารณาช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง เป็นเพราะบังเอิญ หรือทิ้งทวน ด้วยเงื่อนเวลาที่ค่อนข้างรวบรัด เทียบกับกฎหมายสำคัญฉบับอื่น
นอกจากนี้ ตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังคัดค้านการออกกฎหมายฉบับนี้ของ สนช. เนื่องจากไม่เป็นประโยชน์ต่อชาวนาอย่างแท้จริง และขอให้ สนช.ยกเลิกการพิจารณา และให้สภาชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการ ทำให้คาดหมายได้ว่าเรื่องข้าวก็จะกลายเป็นเป้าหมายประเด็นการเมืองในรัฐบาลต่อไปไม่จบสิ้น
ทั้งนี้ ในวันนี้ สนช. นัดพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. ... อีกครั้ง โดย นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คาดว่า หากตรวจร่างและปรับแก้แล้วไม่มีปัญหา ก็จะสามารถพิจารณาลงมติเพื่อให้ทันและใช้ได้ในรัฐบาลนี้ เพราะเห็นว่าร่างกฎหมายนี้เป็นประโยชน์กับชาวนา