ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เตือนผู้ปกครอง ระวัง "Momo Challenge" ชวนเด็กฆ่าตัวตายในยูทูป

สังคม
28 ก.พ. 62
19:48
4,931
Logo Thai PBS
เตือนผู้ปกครอง ระวัง  "Momo Challenge"  ชวนเด็กฆ่าตัวตายในยูทูป
ระวัง "Momo Challenge" คลิปชวนเด็กๆ ทำกิจกรรมต่างๆ เสี่ยงอันตรายถึงชีวิตในยูทูป กรมสุขภาพจิต แนะผู้ปกครองติดตามการใช้สื่อของเด็กอย่างใกล้ชิด และพิจารณาเนื้อหาที่เหมาะสมต่อเด็กอย่างละเอียดถี่ถ้วน

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก Iyarpaj Sakulamornsurat โพสต์เรื่องราวเตือนภัยผู้ปกครอง ถึงกรณี "Momo Challenge" ใน youtube และ youtube kids เป็นคลิปชวนเด็กๆ ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เปิดเตาในครัวเอง สั่งให้เด็กกินยาเม็ด สั่งให้เด็กทำร้ายร่างกายตัวเอง (กรีดข้อมือตายอย่างถูกวิธี) สอนให้เด็กไปทำร้ายร่างกายคนอื่น รวมทั้งขู่เด็ก ห้ามบอกใครว่าได้ดูคลิปดังกล่าว และพบว่าเด็กกลัวเครียดผวาไม่ยอมเล่า เพราะเชื่อคำขู่จากในคลิป

วันนี้ (28 ก.พ.2562) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้มีข่าวเกี่ยวกับกับการพบคลิปการ์ตูนสำหรับเด็กที่ถูกดัดแปลงขึ้นมาใหม่เพื่อเผยแพร่บนช่องทาง YouTube โดยผู้สร้างแอบสอดแทรกเนื้อหาที่มีความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายตนเองอยู่ระหว่างเนื้อเรื่อง ซึ่งผู้สร้างคลิปอาจมีความจงใจใช้ฉากในการ์ตูน เพื่ออำพรางเล็ดลอดการตรวจจับของระบบรักษาความปลอดภัยบน YouTube และ YouTube Kids

สำหรับคลิปการ์ตูนที่สอดแทรกเนื้อหาความรุนแรงที่ปรากฏนั้น เป็นการจงใจสร้างขึ้นเพื่อมุ่งเป้าโจมตีเด็กที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ให้ทำร้ายตัวเองตามแบบอย่างในคลิป นอกจากคลิปดังกล่าวแล้ว ทราบว่ายังมีคลิปการ์ตูนสำหรับเด็กอีกจำนวนหนึ่ง ถูกนำมาดัดแปลงสอดแทรกให้มีความรุนแรงประเภทอื่นๆ ปะปนอยู่ด้วย เช่น ความรุนแรงในโรงเรียนและการค้ามนุษย์ ซึ่งเมื่อผู้ปกครองตรวจสอบแบบผิวเผินอาจไม่พบความผิดปกติของเนื้อหาในเบื้องต้น เนื่องจากเนื้อหาอันตรายมักถูกนำมาสอดแทรกอยู่ส่วนกลางเนื้อหาของคลิป

 

โดยอันตรายที่แอบแฝงมาในสื่อสำหรับเด็กเหล่านี้ อาจทำให้เด็กและเยาวชนที่ไม่เข้าใจผลกระทบจากความรุนแรงนั้น หรือไม่ได้รับการดูแลติดตามอย่างใกล้ชิดจากผู้ปกครอง เกิดผลกระทบทางจิตใจได้อย่างมาก เช่น ความเครียด ความกลัว ความวิตกกังวล ฝันร้าย ไม่อยากไปโรงเรียน อารมณ์ซึมเศร้า หรือทำร้ายตัวเองโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ตามคำชักชวนที่ถูกแทรกในคลิปการ์ตูนได้

ทั้งนี้ พ่อแม่และผู้ปกครองควรให้การดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ควรนิ่งนอนใจ ไม่ควรปล่อยให้เด็กใช้สื่อเพียงลำพังโดยเฉพาะในเด็กเล็ก ควรควบคุมเวลาและประเภทเนื้อหาสำหรับเด็กอย่างละเอียดถี่ถ้วน พยายามติดตามกิจกรรมออนไลน์ของลูกอย่างสม่ำเสมอ ใช้เวลาในการดูสื่อออนไลน์ไปพร้อม ๆ กับเด็ก ให้คำแนะนำที่เหมาะสมเกี่ยวกับเนื้อหาที่ปรากฏในสื่อต่าง ๆ มีการพูดคุยอย่างสม่ำเสมอในครอบครัวเกี่ยวกับเนื้อหาที่พบเจอบนโลกออนไลน์ หากเด็กได้รับสื่ออันตรายเหล่านี้ไปแล้ว ควรเปิดใจพูดคุยในสิ่งที่เด็กได้รับรู้มาและติดตามอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด

หากมีอาการผิดปกติตามที่กล่าวมาข้างต้น เช่น มีความเครียดรุนแรง สามารถขอรับบริการปรึกษาที่สถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อหาทางแก้ไขที่เหมาะสม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง