วันนี้ (1 มี.ค.62) วงเสวนา "ข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวปลอม" กับบทบาทหน้าที่สื่อสารมวลชน เวลา 13.30 - 16.30 น. ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยมีผู้ร่วมเสวนาทั้งผู้สื่อข่าวมากประสบการณ์และนักวิชาการเข้าร่วม ดังนี้
นายคณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการกลุ่ม ข่าวสืบสวนสอบสวนและบริหารศูนย์ข่าวภูมิภาค สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นายมงคล พรประภา เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย น.ส.วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวประทำเนียบรัฐบาล นักจัดรายการวิทยุ เจ้าของ Twitter Deep Blue Sea ผศ.กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สื่อต้องลงพื้นที่จริงป้องกัน “ข่าวลวง”
นายคณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการกลุ่ม ข่าวสืบสวนสอบสวนและบริหารศูนย์ข่าวภูมิภาค สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ข่าวประเภทต่าง ๆ ทั้งข่าวลือ ข่าวลวง มีมานานแล้วก่อนยุคดิจิทัล ซึ่งข่าวลือ ข่าวลวง มีทั้งหมดแต่การกระจายของข่าวอาจไม่กว้างไกล และรวดเร็วเท่าปัจจุบัน และเนื่องจากสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ผู้ที่มีคนติดตามจำนวนมาก ทำให้ข่าวลือ-ข่าวลวงไปได้ไกล
ส่วนหนึ่งปัญหาดังกล่าวอาจเป็นเพราะ ผู้สื่อข่าวขาดการลงพื้นที่ทำข่าว ซึ่งเป็นกระบวนการทำข่าวตามปกติจะทำให้ไม่พบข่าวลือ-ข่าวลวง หากทุกวันนี้หากทำข่าวแบบเดิมปัญหาข่าวลือ-ข่าวลวงก็จะลดน้อยลง และส่วนตัวจะใช้หลักกาลามสูตรเมื่อพบข่าวลือต่างๆ และตรวจสอบทุกครั้ง
เราถูกสอนให้เช็กทุกเรื่อง ครอสเช็กในทุกเรื่อง หรือกรณีมีการร้องเรียน ก็ต้องครอสเช็กเช่นกันว่าผู้ร้องเรียนมีที่มา-ที่ไป อย่างไร ใครได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์หรือไม่ การที่ข่าวลือหรือข่าวลวงแบบนี้แพร่หลายเพราะขาดทักษะการลงไปทำข่าวจริงๆ
นักข่าวต้องทำงานหนัก-รวดเร็ว
ด้าน น.ส.วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวประทำเนียบรัฐบาล นักจัดรายการวิทยุ เจ้าของ Twitter “Deep Blue Sea” กล่าวว่า ในยุคก่อนข่าวลือ-ข่าวลวง เป็นรูปแบบใบปลิวโดยเฉพาะสายทหาร แต่ขณะนี้เป็นการเปิดเพจอวตาร เพื่อปล่อยข่าว หน้าที่ของนักข่าวคือการตรวจสอบ
ข่าวลือ-ข่าวลวงเป็นสิ่งน่ากลัว แต่ต้องไม่ใช่สำหรับนักข่าว เราต้องตั้งมั่นอย่าไปยึดกับข่าวลือ ให้ยึดหลักข้อเท็จจริง หน้าที่ของเราคือต้องทำงานหนักขึ้น รวดเร็วขึ้น เพื่อสยบข่าวลือ
ขณะที่ในช่วงใกล้การเลือกตั้ง ข่าวลือ “รัฐประหาร” ก็ปรากฎขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งน่าเห็นใจเพราะสังคมไทยพบเจอข่าวการรัฐประหารหลายครั้ง รวมถึงแยกแยะประเภทยานยนต์แต่ละประเภทไม่ถูก รวมถึงองค์ประกอบรัฐประหารเปลี่ยนไปเมื่อปี 2557 มีการใช้รถลำเลียงพลเพื่อให้นุ่มนวลลง ซึ่งการที่ประชาชนจะคิดหรือเชื่อข่าวลือก็ย่อมไม่ผิด แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องออกมาชี้แจงโดยเร็วที่สุด และสื่อมวลชนจะต้องตรวจสอบข่าวลือ-ข่าวลวง โดยต้องทำงานหนักขึ้นและรวดเร็ว เพื่อสยบข่าวลือ รวมถึงนักข่าวต้องทำงานร่วมกันเพื่อตรวจสอบในหลายทิศทาง
ขณะที่ สื่อสังคมออนไลน์ มีผู้สื่อข่าวที่ดูแลโดยเฉพาะซึ่งจะนำมาสู่ติดตามข่าวในโซเชียลมีเดียซึ่งจะมอนิเตอร์และส่งให้นักข่าวประจำสายต่าง ๆ ร่วมกันตรวจสอบ
ด้านนายมงคล พรประภา เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อเกิดข่าวลือหรือข่าวลวง ควรตรวจสอบและยืนยันกับตัวแหล่งข่าว
การทำหน้าที่สื่อมวลชนบนพื้นฐานจริยธรรมและจรรยาบรรณถือเป็นหลักสำคัญและช่วยให้รอดพ้นเมื่อถูกฟ้องร้อง
สื่อทำงานบนพื้นฐานจริยธรรม
สอดคล้องกับ ผศ.กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การรายงานข่าวมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ครอบคลุมกรณีข่าวลือ –ข่าวลวง ที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคม ทั้งนี้ ในช่วงของการเลือกตั้งสื่อมวลชนต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นแม้ว่าจะทำงานโดยยึดหลักเสรีภาพแต่ก็อยู่บนความรับผิดชอบ เพราะการนำเสนอบางข้อมูลการทำให้เกิดความไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมได้ เพราะการเลือกตั้งคือเจตนารมณ์ของประชาชน การให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องก็จะส่งผลกระทบได้
ขณะที่นอกเหนือจากกฎหมายและจรรยาบรรณ ประชาชนก็ควรที่ต้องติดตามการทำหน้าที่ของสื่อเช่นกัน
ปรากฏการณ์ “8 ก.พ.62” กับกระแสข่าวไหลบ่า
ขณะที่เหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ในการเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งสื่อทำหน้าที่อย่างหนักเนื่องจากมีข่าวที่ออกมากอย่างต่อเนื่อง
นายคณิศ กล่าวว่า ในวงการข่าวพบว่า มีข่าวลือถึงแคนดิเดตนายกฯจากพรรคไทยรักษาชาติล่วงหน้ามาแล้ว 2-3 วัน ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ โดยเบื้องต้นได้ตรวจสอบไปยังต้นทาง แต่ยังยึดกรอบของตัวเองว่า บางเรื่องต้องเป็นทางการเท่านั้นไม่สามารถพูดก่อนไม่ว่าจะช้าหรือเร็วรู้เท่ากัน รวมถึงการตรวจสอบหลายขั้นตอนส่วนหนึ่งเพื่อการวางแผนการทำงานและรายงานข่าวด้วย
น.ส.วาสนา กล่าวว่า เหตุการณ์วันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ต้นข่าวเกิดจากนักข่าวสายการเมืองใช้คำว่า “บุคคลสำคัญ” จะถูกเสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯและได้สอบถามมายังตนเอง ซึ่งได้ตรวจสอบไปยังแหล่งข่าวแต่ขณะนั้นยังไม่มีสำนักใดนำเสนอข่าวจนกระทั่งมีการโพสต์ในอินสตราแกรมจึงนำเสนอข่าวเรื่องแคนดิเดตนายกฯ
ด้านนายมงคล กล่าวว่า เมื่อมีกระแสข่าวแคนดิเดตนายกฯ ตนเองซึ่งประจำคณะกรรมการการเลือกตั้งนอกจากสอบถามยังใช้เรื่องของพิจารณาจากข้อกฎหมายว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ เพราะกฎหมายระบุว่า เพราะบุคคลที่ไม่เคยไปใช้สิทธิจะไม่สามารถลงสมัครดำรงตำแหน่งใดๆได้ แต่ทั้งนี้ บรมวงศานุวงศ์มีสิทธิในทางกฎหมาย มีสิทธิทางพลเมือง รัฐธรรมนูญกำหนดให้อยู่เหนือการเมืองจึงไม่ได้ไปใช้สิทธิ และกฎหมายเลือกตั้งฉบับล่าสุดกำหนดให้ผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิสามารถมีสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ หรือ “เซตซีโร่” ซึ่งความรู้ทางด้านกฎหมายจะช่วยคัดกรองข้อมูลได้ระดับหนึ่ง
บทบาทสื่อกับการเลือกตั้ง
ขณะที่เมื่อใกล้เข้าสู่การเลือกตั้ง กระแสข่าวต่างๆ ก็มีมากเช่นกัน ซึ่งมีการปล่อยข่าวให้ร้ายหรือการนำเสนอข่าวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสื่ออมวลชนก็ทำหน้าที่อย่างหนักในการตรวจสอบด้านต่างๆ
นายคณิศ กล่าวว่า ในกองบรรณาธิการประชุมกันว่า ในช่วงการเลือกตั้งการติดตามทำข่าวนักการเมืองยังคงเดินหน้าทำต่อไป แต่นอกเหนือจากนั้นจะต้องรับฟังคำถามจากประชาชนถึงนโยบายขอพรรคการเมืองแต่ละพรรคด้วยเช่นกัน
ไทยพีบีเอสได้จัดเวทีฟังเสียงประชาชนใน 12 เวทีและนำข้อมูลมาตั้งคำถามกับนักการเมืองซึ่งทำในเชิงนี้มากกว่าเพียงการติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมถึงการทำข่าวเชิงวิเคราะห์ในสนามเลือกตั้งสนามต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่าจะได้อะไรจากการเลือกตั้งครั้งนี้
ด้าน น.ส.วาสนา ระบุว่า ตนเองรับผิดชอบสายทหารและติดตามทำข่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งติดตามปฏิกิริยาท่าทีของทหารบางส่วนอาจไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมากนัก แต่จะมากขึ้นเมื่อประเด็นทางการเมืองที่เกี่ยวข้องทหาร เช่น นโยบายการตัดงบประมาณกองทัพ หรือ กรณีที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ที่ให้สัมภาษณ์ถึงบทบาทกองทัพกับการเลือกตั้ง
คำถามในช่วงการเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องกับทหาร คือ กองทัพเป็นกลางหรือไม่ ผู้สื่อข่าวก็ต้องตั้งคำถามว่า กองทัพจะดำรงตนให้ไม่ไปช่วยเหลือพรรคการเมือง และเป็นกลางอย่างที่ประกาศหรือไม่
น.ส.วาสนายังกล่าวว่า ตนเองซึ่งใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ก็ถูกตั้งคำถามว่า เป็นกระบอกเสียงของทหารหรือไม่ ซึ่งบางส่วนรายงานข่าวและข้อเท็จจริงตามที่ ผบ.ทบ.ให้สัมภาษณ์หรือนายกฯแถลง แต่บางกรณีในเพจของตนเองจะนำเสนอนอกเหนือจากข่าวเช่น การใส่เครื่องหมายคำถาม หรือ ตกใจ เช่นกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้คัดสรร ส.วก็จะใส่เครื่องหมายคำถาม ซึ่งเป็นเพจจะนำเสนอในมุมมองของตนเอง
สังเกตสื่อเลือกข้าง
ด้านนายมงคล กล่าวว่า ขณะนี้จะบอกว่าสื่อเก่าเป็นสื่อกระแสหลักไม่ได้แล้ว แต่การจะบอกว่าเป็นสื่อหลักหรือสื่อรองอยู่ที่ความน่าเชื่อถือที่ให้ต่อสังคม และส่วนหนึ่งผู้ชมต้องมีวิจารณญาณไม่ให้ถูกหลอกจากข่าวลือ ข่าวลวง หรือ ข่าวปล่อย ซึ่งการสังเกตว่าผู้สื่อข่าวทำหน้าที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ สามารถสังเกตได้คือ 1.มักเปรียบเทียบปัจจัยแวดล้อมที่ต่างกันโดยอีกฝ่ายโดนอีกฝ่ายไม่โดน เช่น คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ที่ กกต.ยื่นเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญและถูกเสนอข่าวว่ารวดเร็วโดยไม่ตั้งกรรมการสอบ และพรรคพลังประชารัฐมีการตั้งกรรมการสอบซึ่งในข้อเท็จจริงทางกฎหมายทั่วไป คดีที่มีหลักฐานชัดเจนย่อมดำเนินคดีได้รวดเร็วกว่า 2.เลือกขยายข้อพิพาทและไม่แก้ไขเมื่อพบว่าข้อพิพาทตอนต้นไม่จริงเมื่อเกิดเหตุซ้ำกลับนำเหตุการณ์เดิมมาตอกย้ำ 3.พาดหัวสั้น กำกวม ก่อให้เกิดความขัดแย้ง 4.สื่อสารโดยใช้ข้อมูลอินโฟกราฟิกที่ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน และ6.ผลักผู้บริโภคไปสู่ฝักฝ่าย ถ้ายิ่งช่วยเหลืออนุมานได้เลยว่า ยังมีความเป็นสื่อสารมวลชนหรือไม่