ไทยพีบีเอสออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า พบว่าปัญหาหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาเพราะเข้าไม่ถึงข้อมูลบริการด้านต่างๆ รวมทั้งกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล ซึ่งไม่รู้ว่าสิทธิรักษาพยาบาลของตนเอง ครอบคลุมการรักษาโรคดังกล่าวหรือไม่
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถใช้สิทธิได้ทันที หากได้รับคำวินิจฉัยจากจิตแพทย์ ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงยารักษาโรคซึมเศร้า มีจำนวน 8 รายการ
เมื่อผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โรคซึมเศร้ารักษาได้ฟรี
สำหรับผู้ที่ไม่แน่ใจในสิทธิการรักษาพยาบาลของตัวเอง สามารถตรวจสอบสิทธิได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 เมื่อโทรไปแล้ว ให้กดหมายเลข 2 พร้อมใส่เลขบัตรประชาชน ระบบจะแจ้งสิทธิมาทันที หากมีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะแจ้งหน่วยงานบริการประจำ (ใกล้บ้าน) ว่าอยู่ที่ไหน เพื่อเดินทางไปรักษา
ส่วนสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ ครอบคลุมการรักษาโรคซึมเศร้าทั้งข้าราชการและครอบครัว หากแพทย์ตรวจแล้วระบุว่าเป็นโรคซึมเศร้าสามารถรักษาทันที ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติม ตรวจสอบสิทธิเพิ่มเติมที่ กรมบัญชีกลาง โทร. 02-127-7000
ขณะที่สิทธิประกันสังคม สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ ยืนยันว่าสำนักงานประกันสังคมให้ความคุ้มครองการรักษาโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชทุกประเภท สามารถใช้สิทธิในโรงพยาบาลที่กำหนดไว้ในระบบประกันสังคม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ตรวจสอบสิทธิเพิ่มเติม สายด่วนประกันสังคม 1506
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เครียด - ซึมเศร้า รักษาที่ไหน?
“แอดมินทูนหัวของบ่าว” เล่าเรื่องโรคซึมเศร้า ที่คนทั่วไปยังไม่รู้
แอปพลิเคชัน "สบายใจ" ตัวช่วยเช็กสถานะทางใจ