ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกตั้ง2562 : นโยบายแจกเงิน ทำได้ หรือ ขายฝัน?

การเมือง
20 มี.ค. 62
12:11
689
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2562 : นโยบายแจกเงิน ทำได้ หรือ ขายฝัน?
เลือกตั้งครั้งนี้หลายพรรคชูนโยบายประชานิยม เพิ่มเงินสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย-ผู้สูงอายุ สูงสุดถึงเดือนละ 3,000 บาท ท่ามกลางการตั้งคำถามว่าทำได้จริงหรือไม่ จะเอาเงินมาจากที่ไหน และจะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่อีกหรือไม่

การค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลของนายเดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกี่ยวกับงบประมาณด้านสวัสดิการทั้งประเทศ (ยกเว้นงบฯ การศึกษา, ช่วยเหลือเกษตรกรและภัยพิบัติ) อยู่ที่ 700,000 ล้านบาท ซึ่งงบฯ ดังกล่าวถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ใช้สำหรับดูแลประชาชน 60 ล้านคน จำนวน 350,000 ล้านบาท และข้าราชการอีก 5 ล้านคน จำนวน 350,000 ล้านบาท

แต่ละพรรคชูนโยบายเพิ่มเงิน

เพิ่มเงินผู้มีรายได้น้อย

  • ประชาธิปัตย์ เพิ่มเงินผู้มีรายได้น้อยจาก 200-300 บาท/เดือน เป็น 800 บาท/เดือน ใช้งบประมาณทั้งหมด 140,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60,000 ล้านบาท

เพิ่มเงินผู้สูงอายุ

  • อนาคตใหม่ เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,800 บาท/เดือน ใช้งบประมาณ 200,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 130,000 ล้านบาท 
  • ประชาธิปัตย์ และชาติพัฒนา เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจาก 600-1,000 บาท เป็นทุกคนได้รับ 1,000 บาท/เดือน ใช้งบประมาณทั้งหมด 110,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40,000 ล้านบาท
  • เพื่อชาติ เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2,000 บาท/เดือน ใช้งบประมาณ 216,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 146,000 ล้านบาท
  • ประชาชาติ เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 3,000 บาท/เดือน ใช้งบประมาณ 320,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 250,000 ล้านบาท

ไทยจ่ายเท่าไหร่? แจกเงินผู้มีรายได้น้อย-สูงอายุ

นายเดชรัต สุขกำเนิด วิเคราะห์นโยบายเพิ่มเงินสวัสดิการของแต่ละพรรคการเมือง โดยระบุว่าไทยใช้งบประมาณบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้กับผู้มีรายได้น้อย 14 ล้านคน ปีละ 80,000 ล้านบาท และผู้สูงอายุ 9 ล้านคน ปีละ 70,000 ล้านบาท ซึ่งนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอเพิ่มเงินให้กับผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุนั้น มีความเป็นไปได้ในการจัดสรรงบฯ แต่ในทางปฏิบัติแล้วหากเข้ามาเป็นรัฐบาล จำเป็นต้องร่วมกันคิดวิเคราะห์อย่างละเอียดว่า ใช้ตัวเลขทั้งหมดเท่าใด

หากประเมินจากตัวเลขที่แต่ละพรรคนำมาหาเสียงแล้ว มองกลมๆ อาจจะเป็นการเพิ่มสวัสดิการอีกอย่างน้อยประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อใช้กับส่วนที่เป็นประชาชน 60 ล้านคน จาก 350,000 ล้านบาท เป็น 450,000 ล้านบาท ก็ไม่ถือว่ามากเกินไป

ดึงเงินส่วนไหนมาจ่ายเพิ่ม?

อย่างไรก็ตาม ในแง่ความเป็นธรรมของสังคม ควรเพิ่มงบฯ 100,000 ล้านบาท แต่ในแง่ของการบริหารคลังจะต้องศึกษาว่า สามารถลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้หรือไม่ ประกอบกับการหารายได้เพิ่มเติม เช่น

  • ปรับลดสวัสดิการของข้าราชการ เนื่องจากสัดส่วนของคน 5 คนล้านคน ที่ใช้งบฯ 350,000 ล้านบาท เป็นจำนวนที่มากเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับคนอีก 60 ล้านคนที่ได้จัดสรรเงินเท่ากัน
  • จำกัดเพดานบำนาญ เช่น 20,000-30,000 บาท หากผู้ที่ได้รับเงินมากกว่านั้นอาจจำเป็นต้องลดเพดานลง ซึ่งต้องหารือกันเพราะข้าราชการได้เงินบำนาญเดือนละหลักหมื่น แต่คนส่วนใหญ่ได้ 600 บาท
  • เปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการงบฯ รักษาพยาบาลของข้าราชการมารวมกับสัดส่วนของประชาชน คือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะช่วยลดงบฯ และทำให้บริการที่ดีขึ้นไปพร้อมกัน จากเดิมใช้วิธีการเบิกจ่ายแบบปลายเปิด ไม่ได้ควบคุมค่าใช้จ่าย ส่งผลให้งบฯ เพิ่มขึ้นจากที่ตั้งไว้ทุกปี
  • หารายได้เพิ่มเติม เช่น ภาษีทรัพย์สิน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเริ่มเก็บในปีนี้เป็นปีแรก ยกตัวอย่างเก็บภาษีที่ดินไร่ละ 1,000 บาท จำนวน 50 ล้านไร่ จะได้งบฯ 50,000 ล้านบาท ประกอบกับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นอีก 50,000 ล้านบาท ก็น่าจะเพียงพอในการจัดสรรงบฯ เพิ่มเติม

เติมเงินกระตุ้นใช้จ่าย-วางแผนชีวิต

ยอดเงินสวัสดิการสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุจากนโยบายพรรคการเมือง ที่เพิ่มขึ้นรวมอย่างน้อย 100,000 ล้านบาท ผลที่ได้รับทันทีคืออำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้น กระตุ้นความต้องการใช้จ่ายของประชาชนและผู้สูงอายุเป็นทอดๆ จนเกิดเป็นการใช้จ่ายทวีคูณประมาณ 3-5 เท่า ที่สำคัญคือ ทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีความสามารถในการวางแผนชีวิต เช่น การตัดสินใจซื้อทรัพย์สิน และทุนการศึกษาสำหรับบุตรหลาน และผู้สูงอายุจะมีขีดความสามารถในการวางแผนชีวิตเพิ่มขึ้น จากเดิมเดือนละ 600 บาท เป็น 1,000 บาท

ประชานิยม ต้นทางวิกฤตเศรษฐกิจใหม่ ?

หลายคนตั้งคำถามว่าประชานิยมจะทำให้ไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเช่นเดียวกับเวเนซุเอลา ที่รัฐบาลนำเงินไปใช้กับโครงการประชานิยมจำนวนมาก เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำก็เข้าควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ นำไปสู่ภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง

นายเดชรัตให้ความเห็นว่า สถานการณ์คงไม่ถึงขนาดนั้น โดยต้องใช้วิธีบริหารจัดการงบฯ สวัสดิการข้าราชการที่เกิดปัญหาอยู่แล้วจนเป็นภาระทางด้านการคลัง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแม้เพียงเล็กน้อยในอนาคต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง