ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถอดรหัส "บอลไทย" ในสนามการเมือง

การเมือง
30 มิ.ย. 62
12:30
1,636
Logo Thai PBS
ถอดรหัส "บอลไทย" ในสนามการเมือง
ถอดสูตร "เนวิน" และตระกูล "คุณปลื้ม" ใช้สโมสรฟุตบอลขีดเส้นความสัมพันธ์ใหม่ ไม่ยึดติดวาทกรรมเหลือง-แดง

เมื่อพูดถึงการเมืองหลายคนมักนึกถึงเฉพาะ "สนามเลือกตั้ง" แต่ใครเลยจะนึกถึง "สนามฟุตบอล" มีส่วนสำคัญไม่น้อยต่อการเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติ

ชาลินี สนพลาย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเปิดประเด็น "บทบาทสโมสรฟุตบอลในปัจจุบัน ตัวแสดงใหม่ในการเมืองท้องถิ่น" ผ่านงานเสวนาดิเรกทอล์ก เดือนมิถุนายน 2561

 

เวทีนั้นจัดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง ชาลินี ตั้งข้อสังเกตว่า นักการเมืองปรากฎตัวมากขึ้น ช่วงหลังการรัฐประหาร ปี 2557 หากดูผิวเผินจากข้อสังเกตดังกล่าว อาจจะคิดว่านักการเมืองใช้สนามฟุตบอลเป็นเพียงเวทีโชว์ตัว แต่ในมุมมองของ ชาลินี สโมสรฟุตบอลมีความหมายมากกว่านั้น

นักการเมืองปรากฎตัวบ่อย มีผลต่อการเลือกตั้งไหม

กรณี คุณสนธยา คุณปลื้ม (อดีตหัวหน้าพรรคพลังชล) เมื่อก่อนไม่ปรากฎตัวในสนามฟุตบอลเท่าไหร่ แต่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการทำทีมฟุตบอล แต่พอหลังรัฐประหารก็มาปรากฎตัวบ่อยขึ้น ในแง่นี้ถ้าพูดอย่างพื้นฐานที่สุดคือพยายามที่จะรักษาพื้นที่สื่อ

แต่ดิฉันพยายามจะบอกว่า ฟุตบอลมันไม่ได้ทำงานแค่ระดับนั้น ไม่ใช่แค่พื้นที่ที่ให้คนมาโชว์ตัวออกสื่อ แม้ในทางปฏิบัติจะทำแบบนี้ด้วยก็ตาม เพราะอีกมุมหนึ่งฟุตบอลทำงานเชิงวัฒนธรรม

เช่น ชลบุรี เรานึกไม่ถึงว่ากำนันเป๊าะไปเดินตลาดแล้วจะมีขอมาขอลายเซ็น แต่รุ่นลูกกำนันเป๊าะเมื่อมาที่สโมสรชลบุรี เอฟซี เดินมาถึงสนามแล้วมีคนมาขอถ่ายรูป

มันบอกเราว่าความสัมพันธ์ของเขาและผู้เลือกตั้งมันเปลี่ยนไป ไม่ใช่ผู้อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ แล้วก็ผู้รับการอุปถัมภ์ เหมือนคอนเซ็ปต์ของเจ้าพ่อที่เราคุ้นเคย มันไม่ได้ทำงานแบบนั้น

มันทำงานในฐานะของคนที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน คือความรู้สึกแบบว่า "เนียะ คนที่อยู่ในชุมชนเดียวกับฉัน" มีผลประโยชน์ มีอัตลักษณ์แบบเดียวกัน เป็นประธานสโมสรฟุตบอลของเรา

ฟุตบอลไม่ได้ทำงานด้วยความหวาดกลัว ไม่ได้ทำงานแบบพึ่งพิงฝ่ายเดียว หรือครอบงำแบบที่เราเข้าใจในคอนเซ็ปต์เจ้าพ่อ ฟุตบอลมันทำงานอีกแบบหนึ่ง

ฟุตบอลทำให้รู้สึกเหมือนเป็นพวกเดียวกัน

ใช่ค่ะ มันเป็นความคุ้นเคยกัน เป็นความใกล้ชิดกัน มันขีดเส้นความสัมพันธ์ใหม่จากแนวดิ่งเป็นแนวนอน อย่างคุณเนวิน (นายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และผู้ก่อตั้งพรรคภูมิใจไทย) สิ่งหนึ่งที่คุณเนวิน พยายามทำมากกับคุณกรุณา (นางกรุณา ชิดชอบ ภรรยานายเนวิน และอดีตนายกฯ อบจ.บุรีรัมย์) ตั้งแต่ลงเล่นฟุตบอล คือการเปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วก็เปลี่ยนคำเรียก

 

ซึ่งสองสิ่งนี้เป็นประเด็นสำคัญมาก แสดงให้เห็นว่าคุณเนวินรู้จักคนไทยดี รู้จักวัฒนธรรมไทยดี เปลี่ยนจากการเรียก "เนวิน" เป็นเรียก "ลุงเนกับป้าต่าย" อันนี้บอกว่าเขากำลังที่จะอยู่ในความสำพันธ์อีกชนิดหนึ่งกับเรา อาจจะบอกว่าเป็นกันเองมากขึ้น

แค่ช่วงเวลาไม่กี่ปีที่คุณเนวิน ลงมาจับสนามฟุตบอล ก่อนจะถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ คนแทบจะลืมไปเลยว่าคุณเนวินมีฉายาว่าอะไร คนจะนึกถึง “ลุงเน” และสนามฟุตบอล

นายกฯ ลงสนามคู่เนวิน ปี '61 ช่วยเพิ่มคะแนนเสียง

ด้วยความเคารพประชาชน "ประชาชนไม่ได้โง่ จน เจ็บ" คือจะพูดว่าทำแบบนี้แล้วทำให้คนเลือกได้จริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่อธิบายยากมาก แต่พอมองได้ว่าทำแบบนี้แล้วจะส่งผลยังไงในแง่ของอารมณ์ความรู้สึก

 

สำหรับประชาชนแน่นอนว่าภาพคุณเนวินเปลี่ยนไป อย่างคนบุรีรัมย์ที่เคยคุยด้วยตอนทำวิทยานิพนธ์ เราพบว่าฟุตบอลได้ขีดเส้นสำนึกใหม่ คนจำนวนหนึ่งไม่ได้เข้าไปในสนามฟุตบอลเพราะชอบฟุตบอลด้วยซ้ำ แต่เขารู้สึกว่าเข้าไปในสนามฟุตบอลแล้วทำให้ทีมฟุตบอลใหญ่ขึ้น ทีมฟุตบอลจะขาดแฟนไม่ได้

เวลาที่เขานึกถึงคุณเนวิน เขาไม่ได้นึกถึงคุณเนวินในฐานะนักการเมือง หรือเจ้าพ่อ หรือลูกคุณชัยชิดชอบ แต่นึกถึงคนที่ทำทีมฟุตบอลให้กับบ้านเขา

เขานึกถึงคุณเนวินในแง่คนที่ทำให้จังหวัดบุรีรัมย์มีตัวตนบนแผนที่ทวีปเอเชีย มันทำงานในแง่อารมณ์ความรู้สึกและวัฒนธรรม ไม่ใช่การพึ่งพาทางเศรษฐกิจหรือเป็นความกลัวอิทธิพล

นักการเมืองทำสโมสรฟุตบอลเกินครึ่งได้เป็น ส.ส. เกี่ยวข้องกันไหม

คนพูดถึงเรื่องฟุตบอล ว่านักการเมืองมาทำสโมสรฟุตบอลเพื่อสร้างฐานเสียง หรือมอบเมาประชาชน แต่ที่จริงมันมีอะไรมากกว่านั้น เช่น ทีมสโมสรชุลบรี เอฟซี พบว่าทีมฟุตบอลทำให้เกิดสำนึกชนิดหนึ่ง คือสำนึกที่เชื่อมโยงตนเองกับท้องถิ่นบ้านเกิด

ปกติเราจะคุ้นเคยกับอัตลักษณ์แห่งชาติ แต่สโมสรฟุตบอลมันเป็นอัตลักษณ์ย่อยกว่าชาติ เป็นชุมชนย่อยผูกโยงกับชุมชน เป็นสโมสรฟุตบอลชลบุรีและผูกโยงกับความเป็นชลบุรี

ตรงนี้ถ้าใช้ให้ดีอย่างตระกูลคุณปลื้ม มันดีต่อตำแหน่งแห่งที่ของพรรคพลังชลมาก เพราะสามารถชูเป็นพรรคท้องถิ่น

ตอนที่ตั้ง "พรรคพลังชล" เขาเลือกตั้งพรรคนี้แทนที่จะเข้ากับพรรคภูมิใจไทย เหตุผลหลักคือกระแสการเมืองระดับชาติมันร้อนแรงมาก

เขาทำโพลในพื้นที่ก็มีแต่คนเลือกเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ มันไม่มีพื้นที่อื่นให้แทรก ตระกูล"คุณปลื้ม" จึงเลือกทางนี้และเดินเกมได้ฉลาดมาก คือขีดเส้นแห่งสำนึกของคนชลบุรีใหม่ แทนที่จะปล่อยให้คุณสมาทานว่าคุณจะเลือกเหลืองหรือแดง

เขาทำให้คนรู้สึกเป็นคนชลบุรี และเราจะเป็นตัวแทนของคนชลบุรี นี่คือพรรคของเราและบ้านของเรา โดยนักการเมืองที่เป็นเจ้าของพื้นที่มาโดยตลอด

ฟุตบอลทำงานในลักษณะนี้มากกว่าการทำสโมสรฟุตบอลให้คนชอบ แล้วคนว่าคนจะมาเลือก เพราะการตัดสินใจของคนเลือกตั้งในชนบทซับซ้อนมาก ไม่ต่างจากการเลือกตั้งระดับชาติหรือการตัดสินใจของคนในเมืองที่มีเงื่อนไขเรื่องคน เรื่องพรรค และปัจจัยอื่นๆ

ถึงบรรทัดนี้ เราคงไม่กล้าคิดง่ายๆ ว่านักการเมืองมาทำทีมฟุตบอล แล้วจะได้ฐานเสียงหรือมวลชนสนับสนุนการเลือกตั้ง แต่ทีมฟุตบอลทำหน้าที่เป็นสายสัมพันธ์ให้คนรู้สึกเชื่อมโยงกับท้องถิ่น เรียกได้ว่าเป็น "ความภูมิใจ" ของคนในชุมชนที่มีทีมฟุตบอลของตัวเอง

และเมื่อทีมฟุตบอลเป็นความภูมิใจ  "เจ้าของทีม"ย่อมกลายเป็นคนที่พวกเขายอมรับ เป็นเหมือน "พวกเดียวกัน" ไม่ใช่ผู้มีอำนาจมากบารมีดังนักการเมืองท้องถิ่นในอดีต และนี่คือภาพการเมืองเรื่องฟุตบอลที่ทำให้การเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติของไทยเปลี่ยนไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง