วันนี้ (10 ก.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวทีเสวนาวิชาการ "ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่ากับผลกระทบต่อคนจน : กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง" ซึ่งนำเสนอรายละเอียดข้อเท็จจริงจากชาวบ้านในพื้นที่ และความเห็นจากนักวิชาการ นักกฎหมาย และนักสิทธิมนุษยชน มีการยกตัวอย่างภาพถ่ายแผนที่ทางอากาศและพิกัดแปลงการถือครองที่ดินทำกินของชาวบ้านหินรู และบ้านซับหวาย จ.ชัยภูมิ ด้วย
หลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาจำคุกชาวบ้านซับหวาย อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ 4 คน ในคดีบุกรุกอุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นชาวบ้าน 4 คนสุดท้าย จากทั้งหมด 14 คน 19 คดี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุก ตั้งแต่ 4 เดือน ถึง 4 ปี
พิกัดแปลงที่ดินมีความคลาดเคลื่อน
สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ระบุว่า มีความคลาดเคลื่อนของพิกัดในแปลงที่เป็นเอกสารราชการ ที่อ้างอิงจากมติ ครม. 30 มิ.ย.2541
เนื่องจากช่วงปี 2534-2535 มีความพยายามผลักดันคนออกจากป่า ตามโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม หรือ คจก. ซึ่งมีชาวบ้านส่วนหนึ่งย้ายออกไป และกลับเข้าพื้นที่อีกครั้งในช่วงเวลาเดียวกันกับการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง เดือน ธ.ค.2535
แต่ในการสำรวจพื้นที่จับพิกัดจีพีเอสของหน่วยงานราชการ 3 ครั้ง ระหว่างปี 2546-2553 ชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่า ยังมีผู้ตกสำรวจอีกเป็นจำนวนมาก
ด้านนายปราโมทย์ ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวว่า แม้มีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับสุดท้าย ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.หลายฉบับที่กระทบสิทธิของประชาชน ซึ่งในจำนวนนั้น มีการยกเลิกคำสั่งที่ 64/2557 และ 66/2557
แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือชาวบ้านซับหวาย จ.ชัยภูมิ จำนวน 14 คน ต้องตกอยู่ในสถานะผู้ถูกคุมขัง จากมาตรการทวงคืนผืนป่าจากคำสั่งดังกล่าว ซึ่งมีที่มาจากข้อผิดพลาดในข้อมูลสารสนเทศของหน่วยงานราชการ
ทำให้ประชาชนที่ตกหล่นจากการสำรวจต้องกลายเป็นผู้บุกรุก
ยกกรณี "ปกาเกอะญอ" ชนะคดีอยู่ในป่า
ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก นักกฎหมาย และประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า คำพิพากษาศาลฎีกาในกรณีกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ อาศัยอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนเขตป่าของรัฐ ที่มีการอ้างอิงมติ ครม. 3 ส.ค.2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ทำให้ชาวบ้านชนะคดีมาแล้ว
ซึ่งคำพิพากษาได้นำมาสู่การพิจารณาใน 3 แนวทางสำคัญ คือยุติการจับกุม ตั้งคณะกรรมการจัดการ จัดหากลไกที่เหมาะสม และในที่สุด อาจนำไปสู่การเพิกถอนประกาศของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ทำกินของประชาชน
ด้าน ศ.กิตติคุณอมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และอดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การใช้สิทธิที่ขัดกัน ต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญ 3 ประการ คือเคารพสิทธิ คุ้มครองสิทธิ และทำให้สิทธินั้นเป็นจริง ที่รวมไปถึงการเยียวยา
โดยยกตัวอย่างแผนและข้อเสนอของชาวบ้านซับหวาย ที่พยายามหาวิธีการในการอยู่ร่วมกับป่า เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน 5 ชุมชน เนื้อที่กว่า 5,211 ไร่ โดยเสนอว่าแนวทางเหล่านี้ควรถูกนำมาพิจารณา เพื่อหาข้อสรุปใหม่ และหากมีข้อผิดพลาดในอดีต ควรมีการเยียวยาให้ความเป็นธรรมกับประชาชน
นักวิชาการอ้างกองทัพจัดสรรประโยชน์ใหม่
รศ.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากการขยายอำนาจของกองทัพในความพยายามรื้อฟื้นระเบียบอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่เคยสูญเสียไปหลังเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535
เป็นความพยายามสถาปนาระเบียบอำนาจ จัดสรรผลประโยชน์ใหม่ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรูปแบบของ "รัฐสมทบทุนใหญ่เจียดกำไรไปให้ทานคนจน" ที่สะท้อนผ่านนโยบายต่างๆ เช่น บัตรคนจน หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
โดยกรณีของมาตรการทวงคืนผืนป่า เป็นตัวอย่างบทบาทของ กอ.รมน.ที่จับมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปฏิบัติการจับกุมชาวบ้าน รวมถึงการควบคุมกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งสาระสำคัญของคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และ 66/255 ฉบับ ได้เข้าไปอยู่ในกฎหมายบางฉบับ ที่ถูกกำกับในความมั่นคงของรัฐในความหมายแคบ สะท้อนความมั่งคั่งที่กระจุกตัว