วันนี้ (30 ก.ค.2562) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช้อนกลางถือเป็นเกราะป้องกันการติด โรคต่างๆ และลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อที่ออกมาทางน้ำลาย เช่น คอตีบ วัณโรค โปลิโอ ไวรัสตับอักเสบชนิดบี ไข้หวัดใหญ่ คางทูม รวมทั้งโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่พบเชื้อในน้ำลาย อื่นๆ และโรคที่ติดต่อผ่านทางอาหารและน้ำเป็นสื่อได้ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ
จากการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของประเทศไทยยังพบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังไม่ใช้ช้อนกลาง และบางครัวเรือนใช้ช้อนกลางไม่ถูกต้อง โดยใช้ช้อนกลางตักอาหารกินเลย
ขณะที่ในร้านอาหารบางร้าน ยังพบว่าไม่มีช้อนกลางวางไว้ประจำโต๊ะ หรือเสิร์ฟมาพร้อมกับอาหาร และยังคงต้องให้ลูกค้าร้องขอ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจเสี่ยงติดโรคได้
กรมอนามัยจึงรณรงค์ให้ประชาชนใช้ช้อนกลางในการ กินอาหารร่วมกันทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อทางน้ำลายหรือจากเสมหะของผู้ป่วย เพราะเพียงแค่กินอาหารร่วมกันก็ติดโรคได้
ทั้งนี้ การใช้ช้อนกลางที่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอาหารคือ ควรเตรียมช้อนกลางที่สะอาด หรืออุป กรณ์ที่ใช้ตักอาหารให้เหมาะกับชนิดของอาหารและมีจำนวนให้ครบตามจำนวนชนิดของอาหารที่จะกินอย่างน้อย 1 คันต่ออาหาร 1 ชนิด และใช้ช้อนกลางที่เตรียมไว้เพื่อตักอาหารมาใส่ที่จานข้าว หรือถ้วยแบ่งของตนเอง
โดยห้ามใช้ช้อนกลางตักอาหารที่กินร่วมกันเข้าปากโดยตรง
นอกจากนี้ ขอความร่วมมือให้ร้านอาหารและแผงลอยที่นอกจากจะต้องใส่ใจปรุงอาหารที่สะอาดปลอด ภัยแล้ว ควรเสิร์ฟช้อนกลางทุกครั้ง เมื่อลูกค้าสั่งอาหารมากินร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หรือมีช้อนกลางบริการไว้ให้ที่โต๊ะอาหาร
สำหรับผู้บริโภคต้องสร้างค่านิยมใหม่ในการใช้ช้อนกลาง เมื่อกินอาหารร่วมกัน รวมทั้งสำรับอาหารที่ถวายพระต้องมีช้อนกลางด้วยทุกครั้งเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคระหว่างกัน ซึ่งการปลูกฝังสุขนิสัยและสร้างพฤติกรรมใช้ช้อนกลางที่ถูกต้องแก่ประชาชนช่วยลดการปนเปื้อนของเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้