ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แพทย์เตือน "รมควันฆ่าตัวตาย" ไม่ใช่วิธีที่ง่าย ตายทรมาน

สังคม
15 ส.ค. 62
16:22
103,108
Logo Thai PBS
แพทย์เตือน "รมควันฆ่าตัวตาย" ไม่ใช่วิธีที่ง่าย ตายทรมาน
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด รพ.จุฬาลงกรณ์ เตือนอย่าเลียนแบบพฤติกรรมฆ่าตัวตาย หลังพบรมควันฆ่าตัวตายถี่ขึ้น ระบุไม่ใช่วิธีที่ง่าย แต่เป็นความตายที่ทรมาน หากมีคาร์บอนมอนอกไซต์ในความเข้มข้น 200 พีพีเอ็ม เพียงแค่ 1 ชั่วโมงจะตายทันที

กรณีข่าวครอบครัวฆ่าตัวตาย 3 ศพ เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมาในเขตพื้นที่ถนนเลียบมอเตอร์เวย์ หมู่ 14 ต.บึงคำพร้อย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี โดยตำรวจตรวจพบพบเตาอั้งโล่ คาดว่าจะเป็นสาเหตุทำให้ครอบครัวนี้เสียชีวิต

วันนี้ (15 ส.ค.2562)ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อายรแพทย์ผู้เชี่ยว ชาญด้านโรคปอด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายด้วยวิธีการรมควัน ซึ่งพบมากในช่วงที่ผ่านมา สาเหตุที่ทำให้คนเสียชีวิตเกิดจากการขาดอากาศ เพราะเมื่อเกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์จากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซต์ เข้าไปจับกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงได้ดีกว่าออกซิเจน ทำให้เลือดไม่สามารถหล่อเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ ผู้ที่สูดดมควันพิษนี้เข้าไปจะมีอาการตั้งแต่อาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ สับสน อาเจียน หายใจลำบาก หน้ามืด หมดสติ และเสียชีวิต

การรับควันพิษจากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซต์ อย่ามองว่าเป็นวิธีที่ง่าย เพราะเป็นการตายอย่างทรมานที่สุด

นพ.ฉันชาย กล่าวว่า เนื่องจากร่างกายจะเพราะต้องสำลักควัน และสูดมลพิษเข้าไปในกระแสเลือด หากมีค่าความเข้มข้นสูงมากในสภาพพื้นที่แคบ ไม่มีอาการถ่ายเท และยิ่งทำให้คนเสียชีวิตเร็วขึ้น แต่บางคนหากไม่เสียชีวิตทันที ก็จะกลายเป็นคนพิการ เพราะสมองขาดออกซิเจนไปเลี้ยงจากการสำลักควัน

จากการศึกษาพบว่าความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซต์ที่มีผลต่อสุขภาพนั้นมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน ในระดับความเข้มข้นของกก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ 20-30 ส่วนในล้านส่วน (พีพีเอ็ม) สามารถก่อให้เกิดอันตรายได้หากได้รับเป็นเวลานานหลายชั่วโมง แต่หากรับในค่าความเข้มข้น 200 พีพีเอ็ม เพียงแค่ 1 ชั่วโมงจะทำให้เสียชีวิตทันที

 

ทั้งนี้ คาร์บอนมอนอกไซด์สามารถจับโครงสร้างของฮีโมโกลบินได้ดีกว่าออกซิเจนถึง 200 เท่า เมื่อรับอากาศที่มีคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไปในปริมาณสูง คาร์บอนมอนอกไซด์จะแย่งจับกับฮีโมโกลบินแทนออกซิเจน ทำให้ฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดงสูญเสียความสามารถในการจับกับออกซิเจน และลำเลียงออกซิเจนไปยังเซลล์ที่ต้องการได้ เป็นผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน เป็นสาเหตุให้การทำงานของสมองและระบบต่างๆ ของร่างกายเสียหายได้ 

ที่ผ่านมามักจะเจอผู้ป่วยที่เกิดจากเหตุการณ์ไฟไหม้อาคาร หรือไฟไหม้บ้าน รวมทั้งการตั้งเตนท์นอน และมีการเผลอจุดไฟให้ความร้อน ที่เข้ามารักษาด้วยอาการตายจากพิษคาร์บอนมอนอกไซต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับกลุ่มเหล่านี้

ห่วงเลียนแบบ-วอนคนใกล้ชิดช่วยดูแลกล่มเสี่ยง

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ข่าวการฆ่าตัวตายค่อนข้างถี่ โดยเฉพาะข่าวการฆ่าตัวตายแบบรมควัน กรมสุขภาพจิตห่วงประชาชนในการติด ตามข่าวสารข้อมูลความเคลื่อน ไหวดังกล่าว อาจจะทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบขึ้นมาได้

โดยการเลียนแบบมักเกิดขึ้นภายหลังจากการได้รับข่าวที่บรรยายถึงวิธีการกระทำโดยละเอียดการได้เห็นภาพ หรือวิธีการฆ่าตัวตายจากสื่อ ได้ฟังการบรรยายในเรื่องของการฆ่าตัวตาย ซ้ำบ่อยๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสัดส่วนมากน้อยตามระยะเวลา ความถี่ และปริมาณข่าวที่ได้รับด้วย

จากข้อมูลศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต ปี 2540-2560 พบว่า มีการฆ่าตัวตายโดยใช้วิธีการรมควัน เพียงประมาณ 0.1% ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย และผู้ชายเสี่ยงกว่าผู้หญิง 1.38 เท่าในการใช้วิธีการนี้

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือเพื่อป้องกัน โดยในส่วนของสื่อมวล ชน ที่มีบทบาทในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารควรดำเนินการด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าววิธีการฆ่าตัวตายอย่างละเอียด ภาพการฆ่าตัวตาย รวมไปถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำร้ายตัวเอง และหลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวซ้ำๆ ถี่ๆเพื่อป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบการฆ่าตัวตาย 

เหตุการณ์ "รมควัน ฆ่าตัวตาย" ปี 2562

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบมีการฆ่าตัวตาย ที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อมวลชนหลายสำนักมากกว่า 10 กรณี ดังนี้ 

  • 3 ก.พ.ที่ จ.สมุทรปราการ พบศพ ชาย อายุ 48 ปี เสียชีวิตอยู่ภายในรถกระบะ 
  • 19 ก.พ.ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา พบศพหญิงสาวอายุ 31 ปี เสียชีวิตภายในรถยนต์ 
  • 13 มี.ค.ที่ จ.สมุทรปราการ พบศพชาย อายุ 24 ปี นอนเสียชีวิตอยู่ภายในหอพัก
  • 2 เม.ย. ที่ กรุงเทพฯ พบศพหญิง อายุ 50 ปี นอนเสียชีวิตบนที่นอน  คาดเครียดปัญหาสุขภาพ
  • 29 เม.ย. ที่ จ.เชียงใหม่ พบศพชายอายุ 27 ปี นอนเสียชีวิตบริเวณเบาะที่นั่งคนขับ 
  • 4 พ.ค.ที่ จ.สมุทรปราการ รมควันฆ่าตัวตายภายในห้องเช่า 
  • 10 มิ.ย. ที่ จ.ลำพูน พบศพ หญิงสาว อายุ 31 ปี เป็นโรคซึมเศร้า 
  • 19 มิ.ย. ที่กรุงเทพมหานคร พบศพชาย อายุ 63 ปี อดีตพนักงานธนาคาร เสียชีวิตภายในรถกระบะ 4 ประตู
  • 25 มิ.ย. พบศพบัณฑิตจบใหม่ อายุ 24 ปี ที่ จ.สมุทรปราการ  
  • 10 ก.ค. พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง อายุ 48 ปี  
  • 19 ก.ค. ที่กรุงเทพฯ พบศพชาย อายุ ผู้จัดการโชว์รูมรถหรู นอนเสียชัวิตอยู่บนเบาะที่นั่งคนขับ 
  • 21 ก.ค. จ.เชียงใหม่ ครูสาว อายุ 36 ปี รมควันฆ่าตัวตายในห้องพัก 
  • 8 ส.ค. พบศพสาวปริญญาโท อายุ 30 ปี รมควันฆ่าตัวตายในรถปิกอัพ ใน จ.ปทุมธานี
  • 10 ส.ค. พบศพ แม่-ลูก นอนเสียชีวิตในรถแท็กซี่ พื้นที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมทาธานี 
  • 13 ส.ค.พ่อแม่ลูก 3 ชีวิต นอนเสียชีวิตในรถยนต์

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง