วันนี้ (16 ส.ค.2562) ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ นายสกล เตชะสถาพร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย กล่าวเกี่ยวกับโครงการ ถนนพลาสติกรีไซเคิลว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือของธุรกิจเคมิคอลส์ในเครือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC หรือเครือ เอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ที่นำขยะพลาสติกมาเป็นส่วนผสมกับยางมะตอยในการทำถนน ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการนำขยะพลาสติกมาสร้างมูลค่าและใช้ประโยชน์ใหม่ โดยพลาสติกได้มาพลาสติกที่ใช้แล้ว โดยคัดแยกขยะพลาสติกจากสำนักงาน ศูนย์กระจายสินค้า และร้านเซเว่น อีเลฟเว่น
เทคนิคที่ใช้คือการนำขยะพลาสติกไปผ่านกระบวนการบดย่อยสลายให้มีขนาดเล็ก นำไปผสมกับยางมะตอยและหินกรวด เพื่อนำไปสร้างถนน ช่วยประหยัดยางมะตอยได้ประมาณ 10% ระยะแรกทดลอง 2 สาขาคือ สาขาสายไหม ซอย 3 และสาขาราษฎร์พัฒนา ซอย 24
สำหรับคุณสมบัติของถนนพลาสติกจะมีความแข็งแรงทนทาน ยึดเกาะถนน และทนต่อการกัดเซาะของน้ำได้มากขึ้น ใช้เวลาเซตตัวเพียง 1 วัน แตกต่างจากถนนคอนกรีตปกติที่ใช้เวลาอย่างน้อย 4 วัน ซึ่งในปัจจุบัน กลุ่มพันธมิตร ซึ่งได้แก่ ธุรกิจเคมิคอลส์ในเครือเอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย อยู่ระหว่างการปรับปรุงส่วนผสมให้มีความเหมาะสมมากขึ้น เนื่องจากพบว่าส่วนผสมยังไม่เกาะติดกันมากพอ คาดว่าอาจเกิดจากการขนส่งจากโรงผสมยางมะตอยที่มีระยะทางไกลจาก จ.สระบุรี
หนุนใช้พลาสติกทำถนนช่วยลดขยะ
ขณะที่เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว” ระบุว่า โครงการถนนพลาสติกรีไซเคิลน่าสนใจสำหรับการลดขยะพลาสติกที่ดี เป็นการนำคุณสมบัติเด่นของพลาสติกที่เป็นวัสดุย่อยสลายยาก มีความต้านทานน้ำ สามารถรับแรงกระแทกได้ดี มาหลอมรวมกับวัสดุที่มีความแข็งแรงแต่เปราะอย่างหินกรวด มาผสานรวมกับความเหนียวรับแรงกระแทกของพลาสติกที่เป็นตัวกระจายแรงได้ดี ทำให้ได้วัสดุเสริมแรงมีคุณสมบัติแข็งแรงแต่ไม่แข็งเปราะได้ดีเลย รวมไปถึงคุณสมบัติเด่นอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น การกัดเซาะน้ำ ความทนทาน และการเซ็ตตัวให้แข็งแรงเร็ว ที่มากกว่าการผสมกับยางมะตอยอย่างเดียวแบบเดิม
ปกติแล้วขยะพลาสติกนั้นส่วนมากก็จะเป็นถุงพลาสติกที่มีส่วนผสมของพอลิเอทิลีนทั้งความหนาแน่นสูงและต่ำจากถุงพลาสติก รวมไปถึงพอลิพรอพพิลึน จากกล่องพลาสติกและถุงร้อนใส รวมไปถึงพอลิเอทิลีน เทเรฟธาเลต จากขวดน้ำใสด้วย ซึ่งพลาสติกเหล่านี้แม้ว่าจะเป็น “พลาสติกเหมือนกัน” แต่ก็ผสมเข้ากันไม่ได้เลย เนื่องจากโครงผลึก และความมีขั้วที่แตกต่างกัน ทำให้เมื่อหลอมรวมกันแล้วจะทำให้เกิดการแยกตัว จนทำให้พลาสติกผสมนั้นมีสมบัติการรับแรงที่ห่วยลง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีขั้นตอน “การแยกประเภทพลาสติก” ก่อนนำมาหลอมรวมกัน
รณรงค์ลด-งดใช้ถุงพลาสติก
กรมควบคุมมลพิษและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลของประเทศไทยมีปริมาณขยะประมาณ 11.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นขยะพลาสติกมากถึง 1.5 ล้านตัน ซึ่งบางส่วนกลายเป็นขยะในทะเล ซึ่งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และชีวิตสัตว์น้ำทางทะเล อย่างเช่นเต่าทะเล และวาฬบรูด้า ที่กลืนกินขยะเข้าไปในท้อง จนสร้างความสูญเสีย ขณะเดียวกัน ประเทศไทยติดอันดับ 6 ใน 192 ประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุดในโลก
ที่ผ่านมา ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาขยะล้นจนเกินขีดความสามารถในการกำจัดอย่างเกาะสมุย และเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ต่างหันมาช่วยกันระดมความคิดและพลังในการแก้ไขปัญหา เช่น การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง แนวคิดเพิ่มค่าเก็บขยะ แต่ยังไม่เห็นผลชัดเจนมากนัก เนื่องจากปัญหาขยะสะสมมาเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม ในระดับประเทศนั้น หลายองค์กรเริ่มหันมารณรงค์การลดและงดให้ถุงพลาสติกมากขึ้น โดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และร้านสะดวกซื้อ เพื่อเดินหน้าสู่สังคมไร้ขยะพลาสติก นอกเหนือจากทางภาครัฐที่มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่นำขยะพลาสติกมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า