ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เตือน "อยุธยาฯ-อ่างทอง" นอกคันกั้นน้ำรับน้ำเพิ่ม 20-30 ซม.

ภัยพิบัติ
6 ก.ย. 62
10:19
1,118
Logo Thai PBS
เตือน "อยุธยาฯ-อ่างทอง" นอกคันกั้นน้ำรับน้ำเพิ่ม 20-30 ซม.
กรมชลประทาน เตือนจังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ เตรียมรับน้ำเอ่อท่วมสูงเฉลี่ย 20-30 ซม.เนื่องจากมีการระบายน้ำเพิ่ม ตั้งแต่ 770-800 ลบ.ม.ต่อวินาที

วันนี้ (6 ก.ย.2562) นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังจากที่ได้มีการทยอยเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา พบว่าเมื่อวานนี้ (5 ก.ย. ) ปริมาณน้ำทางตอนบนที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่าน 1,324 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5.08 เมตร ระดับน้ำยังคงค่อยๆเพิ่มขึ้นจากวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา 

ส่วนเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เมื่อ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อน 781 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาถึงเวลา 15.00 น. บริเวณ จ.สิงห์บุรี และอ่างทอง เพิ่มขึ้นประมาณ 0.40 เมตร ยังคงต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 7 เมตร ส่วนแม่น้ำน้อย อ.บางบาล จ.พระนคร ศรีอยุธยา บริเวณบ้านบางหลวงโดด ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 0.27 เมตร และบ้านบางบาล ระดับน้ำลดลง 0.11 เมตร ระดับน้ำยังคงต่ำกว่าตลิ่ง ประมาณ 2 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ยังได้แจ้งเตือนจังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 7 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยาคือ จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี และพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากได้เริ่มระบายน้ำแบบขั้นบันได ตั้งแต่เวลา 12.00-18.00 น. ของวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมาในอัตรา 770-800 ลบ.ม.ต่อวินาที

ภาพ:กรมชลประทาน

ภาพ:กรมชลประทาน

ภาพ:กรมชลประทาน

 

2 จังหวัดพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นเสี่ยงน้ำท่วม

โดยน้ำจะเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ นอกคันกั้นน้ำแม่น้ำน้อย บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล อ.บางบาล ต.หัวเวียง ต.บ้านกระทุ่ม อ.เสนา และต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำจะท่วมสูง 20-30 ซม.ในช่วงเย็นวันที่ 6 ก.ย.นี้

กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ตอนล่าง โดยการทดระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ไหลมาจากจังหวัดนครสวรรค์ เป็นการชะลอน้ำไว้ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมกับใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกรับน้ำเข้าไปอย่างเต็มศักยภาพ ปัจจุบันรับน้ำเข้าไปรวมกันวันละ 514 ลบ.ม.ต่อวินาที

ขณะที่เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำไหลเข้า ประมาณ 68 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำประมาณ 1 ล้านลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำไหลเข้าประมาณ 84 ล้าน ลบ.ม. ซึ่ง ยังคงงดการระบายน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำสํารองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าที่กําลังจะมาถึงให้ได้มากที่สุด

กรมชล ชี้เขื่อนเจ้าพระยายังรับน้ำเหนือได้

สําหรับสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 10,855 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น ร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ 4,159 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 สามารถรองรับ ปริมาณน้ำได้รวมกันอีกกว่า 14,000 ล้าน ลบ.ม.

การเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อรองรับปริมาณน้ำเหนือยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้

ทั้งนี้กรมชลประทาน จะเฝ้าระวัง ติดตาม และบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพฝน พร้อมรักษาเสถียรภาพของ อ่างเก็บน้ำ และลําน้ำอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด

นอกจากนี้ ให้โครงการชลประทานทุกโครงการในพื้นที่ ประสานกับทางจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ อย่างใกล้ชิด และรับข่าวสารจากทางราชการเท่านั้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง