ทีมวิจัยแจงโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวฯ “ห้วยขาแข้ง”

สิ่งแวดล้อม
6 ก.ย. 62
17:55
1,380
Logo Thai PBS
ทีมวิจัยแจงโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวฯ “ห้วยขาแข้ง”
ทีมวิจัย ชี้แจงโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวฯ “ห้วยขาแข้ง” หวังลดความขัดแย้งชุมชน-สัตว์ป่า ร่วมอนุรักษ์สัตว์ป่าผ่านรูปแบบการท่องเที่ยว ชี้โครงการจะให้เกิดผลกระทบกับสัตว์ป่าน้อยที่สุด ย้ำยังอยู่ในขั้นตอนศึกษายังไม่ถึงขั้นตอนการสรุป

จากกรณีการศึกษาโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก ซึ่งมีการดำเนินการพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวสัตว์ป่า เพื่อการอนุรักษ์บริเวณเขตกันชน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เมื่อวานนี้ ( 5 ก.ย.) ทีมวิจัยจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้แจงโครงการดังกล่าวในหลายประเด็น ตอบคำถามสื่อ หลังจากถูกเพ่งเล็งรูปแบบการท่องเที่ยวซาฟารีห้วยขาแข้ง  

อนุรักษ์ “สัตว์ป่า” ด้วยแนวทางการท่องเที่ยว

ผศ.ดร.นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในทีมวิจัยชี้แจงว่า แนวคิดโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวสัตว์ป่าบริเวณป่ากันชนริมอ่างเก็บน้ำทับเสลา ติดต่อกับทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เนื่องจาก ยังไม่สามารถผนวกพื้นที่กันชนกับพื้นที่อนุรักษ์เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี

แต่พื้นที่นี้มีความสำคัญต่อการอยู่อาศัยของสัตว์ป่าเช่น วัวแดง เสือโคร่ง ช้างป่า กระทิง กวางป่า และนกยูง จึงต้องหาแนวทางอนุรักษ์ควบคู่กับการใช้ประโยชน์พื้นที่ของคนในชุมชนให้ได้อย่างเหมาะสมที่สุด และนำไปสู่การหาทางออก ด้วยแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสัตว์ป่า เพื่อการคุ้มครองประชากรสัตว์ป่าและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนไปพร้อมกัน

 

นักวิจัย ระบุว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวสัตว์ป่า เป็นแนวทางเลือกหนึ่งที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด และมีการนำไปประยุกต์ในหลายประเทศทั่วโลก 

ซาฟารีเป็นแนวทางในการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ในแอฟริกาจากเดิม wildlife game hunting reserves เป็น wildlife game viewing reserves ซึ่งพลิกไปเลยในเรื่องของการจัดการ

ซึ่งทุกวันนี้จะเป็นแบบนี้ คือการเที่ยวชมสัตว์ เพราะเราต้องการความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ การท่องเที่ยวที่สร้างความตระหนักของคุณค่าในพื้นที่ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการ 

 อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง มูลนิธิสืบ ชี้ "ซาฟารี" ห้วยขาแข้งไม่ใช่คำตอบสุดท้ายจัดการสัตว์ป่า

กระทบสัตว์ป่าน้อยที่สุด

ผศ.ดร.นันทชัย กล่าวอีกว่า  รูปแบบการท่องเที่ยวสัตว์ป่าที่ได้นำเสนอจะมีหลากหลายกิจกรรม หนึ่งในนั้นคือ การท่องเที่ยวส่องสัตว์ในธรรมชาติ โดยควบคุมพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว และรูปแบบของรถนำเที่ยวส่องสัตว์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่คำนึงถึงการรบกวนสัตว์ป่าน้อยที่สุด และคำนึงถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวสูงที่สุด ระหว่างประกอบกิจกรรม จะไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวลงจากรถ โดยสัตว์ป่าจะเห็นรถนำเที่ยวเป็นเพียงวัตถุหนึ่งในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ

ขณะประกอบกิจกรรมนักท่องเที่ยวจะได้รับความรู้จากผู้นำเที่ยวที่ผ่านการฝึกอบรมในการนำเที่ยวสัตว์ป่าโดยจะเป็นคนในท้องถิ่นในการนำเที่ยว ทั้งนี้จะมีการกำหนดมาตรฐานกิจกรรมต่าง ๆ ตามมาในอนาคต 

 

ทั้งนี้ จะกำหนดให้มีโปรแกรมการติดตามผลกระทบที่มีต่อสัตว์ป่าอย่างใกล้ชิดเพื่อควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวและรถนำเที่ยวให้เหมาะสม นอกจากนี้ในกระบวนการดำเนินงาน มีโปรแกรมการปรับปรุงถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเพื่อเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าที่สามารถใช้ได้ตลอดปี ลดโอกาสการออกหากินนอกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรของชุมชนไม่ได้มีการจัดกิจกรรมและปรับปรุงพื้นที่ในรูปแบบของสวนสัตว์

ห้วยขาแข้งไม่ได้มองเป็นเพียงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่เรามององค์รวมให้กับชุมชนในแง่ของการท่องเที่ยว อาจจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด หลังจากเราไม่สามารถผนวกพื้นที่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้ ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พื้นที่โดยองค์รวม

การดำเนินการของโครงการมีกิจกรรมอยู่หลายส่วน ทั้งในส่วนของการจัดการถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน การพัฒนากิจกรรมนั่งรถส่องสัตว์ให้ได้มาตรฐาน การพัฒนาศักยภาพชุมชน รวมไปถึงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ทางธรรมชาติเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การจัดการพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติหัวขาแข้งให้กับเยาวชน และผู้สนใจโดยทั่วไป (ในโครงการฯ เรียกว่า อุทยานมรดกโลกทางธรรมชาติ) โดยการกำหนดงบประมาณ และผู้รับผิดชอบในแต่ละกิจกรรมจะเป็นการทำงานในขั้นตอนต่อไป โดยพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

 

สิ่งที่นำเสนอนี้ยังไม่ใช่การตัดสินใจขั้นสุดท้าย การศึกษาวิจัยนี้เป็นเพียงการเสนอแนวทางการจัดการพื้นที่ซึ่งการวิจัยโครงการระยะเวลาทั้งหมด 22 เดือน

ขณะนี้ผ่านมาแล้วครึ่งทาง ซึ่งอาจจะมีการปรับเปลี่ยนแผน เนื่องจากยังมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากจังหวัด กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนในท้องถิ่น 

 

 

พื้นที่โครงการฯพื้นที่กันชน 1.5 หมื่นไร่

ทั้งนี้ โครงการทั้งหมดตั้งอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติทับเสลา-ป่าห้วยคอกควาย ซึ่งเป็นกันชน นอกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง  ปัจจุบันมีสถานะเป็นพื้นที่ป่าชุมชนบ้านบึงเจริญ (4,700 ไร่) และพื้นที่เตรียมจัดตั้งป่าชุมชนห้วยเปล้า (2,812 ไร่) และพื้นที่ป่า บางส่วนของโครการส่งน้ำและบำรุงรักษาทับเสลา รวมเป็นพื้นที่โครงการพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวสัตวป่าเพื่อการอนุรักษ์ราว 15,500 ไร่

 

 

 

ลดขัด "แย้งป่า-ชุมชน"  

นายสมโภชน์ มณีรัตน โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า โครงการขณะนี้ยังไม่ใช่บทสรุป แต่การทำงานไม่ได้มองเพียงผืนป่าตะวันตก หรือ มรดกโลก แต่มองไปไกลและกว้างกว่านั้น ขณะที่ข้อกังวลเรื่องความขัดแย้งระหว่างคน และสัตว์ป่า และการใช้พื้นที่ได้คิดหาทางออกผ่านโครงการฯ ซึ่งมีความเปราะบางมาก โครงการเหล่านี้อาจไม่ใช่เพียงโมเดลเดียวเท่านั้น ซึ่งจะเป็นความหวังในการดูแลพื้นที่นี้อย่างไร ซึ่งในอนาคตยังมีอีกหลายขั้นตอนที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ  

โครงการนี้เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่น่าจะนำมาใช้ เพราะหากปล่อยต่อไป ความขัดแย้งระหว่างคนและสัตว์ป่าจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ 

 

เชื่อว่ารูปแบบแบบนี้จะต้องเกิดขึ้นในวันหนึ่ง แต่วันนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการสิ่งที่ดีที่สุด ยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาประกอบอีกมาก ซึ่งอาจไม่เกิดที่ห้วยขาแข้ง อาจเกิดที่อื่นก็ได้ เพราะความขัดแย้งมีทั่วประเทศแต่มาก-น้อยเท่านั้น 

ขณะนี้มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายแล้วในหลายพื้นที่ โดยแต่ละพื้นที่มีปัจจัยแตกต่างกัน โดยกรมฯไม่ได้รอโครงการฯนี้เพียงโครงการเดียวหลายโครงการได้เริ่มไปแล้วในหลายโครงการ และในการวิจัยนี้ก็นำส่วนต่าง ๆ มาปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

มูลนิธิสืบ ชี้ "ซาฟารี" ห้วยขาแข้งไม่ใช่คำตอบสุดท้ายจัดการสัตว์ป่า

ฟังชัดๆ "วราวุธ" ชี้ซาฟารีห้วยขาแข้งแค่แนวคิด-ทส.ต้องปกป้องป่า

"กรมป่าไม้" ยังไม่เคาะใช้พื้นที่ผุดซาฟารีห้วยขาแข้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง