วันนี้ (7 ก.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องมาจากกรณีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ซึ่งสูญหายไปตั้งแต่ปี 2557 และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกมาแถลงข่าวว่ามีหลักฐานบ่งชี้ว่าบิลลี่เสียชีวิตแล้ว โดย พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีดีเอสไอ ได้ระบุว่า พยานปากสำคัญและครอบครัวของบิลลี่ได้เข้าโครงการคุ้มครองพยานทั้งหมดแล้ว
นอกจากนี้ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) และอยู่ในชุดจับกุมบิลลี่ในปี 2557 ส่งตัวแทนไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันเรื่องขอความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ สภ.เมืองอุบลราชธานี โดยอ้างว่าถูกผู้ที่อ้างตัวเป็นตำรวจภูธรภาค 7 คุกคาม คุกคามลูกน้องสมัยเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
หลักเกณฑ์การร้องขอคุ้มครองพยาน
ทั้งนี้ ไทยพีบีเอสออนไลน์ จะพาไปดูข้อมูลระเบียบกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2554 ซึ่งได้ประกาศในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2554 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศเป็นต้นไป ได้ระบุว่า การร้องขอให้คุ้มครองพยาน ซึ่งให้ผู้ร้องขอแจ้งเรื่องขอคุ้มครองพยานต่อศูนย์คุ้มครองพยาน ซึ่งจะทำเป็นหนังสือหรือแจ้งด้วยวาจาหรือโดยวิธีอื่นก็ได้ ส่วนกรณีที่หัวหน้าคณะทำงานสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้ขอให้คุ้มครองพยานให้เสนอเป็นบันทึกพร้อมความเห็น ยื่นต่อศูนย์คุ้มครองพยาน
ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนเพื่อการคุ้มครองพยาน พนักงานสอบสวนคดีพิเศษอาจขออนุมัติด้วยวาจาต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดี เพื่อขออนุมัติใช้มาตรการทั่วไปในการคุ้มครองพยานไปพลางก่อน เมื่อดำเนินการคุ้มครองพยานไปแล้ว ให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำรายงานเสนอต่อหัวหน้าคณะทำงานสอบสวรนคดีพิเศษ เพื่อแจ้งต่อศูนย์คุ้มครองพยานในทันทีที่สามารถดำเนินการได้
วิธีการคุ้มครองพยาน
ส่วนวิธีการคุ้มครองพยานตามมาตรการทั่วไป ให้ปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ 1. จัดเจ้าหน้าที่ให้การคุ้มครองพยาน ณ ที่พักอาศัย หรือสถานที่ที่พยานร้องขอ, 2. จัดให้อยู่ในสถานที่คุ้มครองพยานซึ่งหน่วยงานคุ้มครองพยานจัดไว้, 3. ปกปิดมิให้มีการเปิดเผยชื่อ ชื่อสกุล ที่อยู่ ภาพ หรือข้อมูลอย่างอื่นที่สามารถระบุตัวได้, 4. ประสานงานกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ เพื่อขอความร่วมมือหรือมอบหมายให้ดำเนินการคุ้มครองพยาน
5. จัดให้มีการติดต่อ สอบถามความเป็นอยู่หรือตรวจสถานที่พักอาศัยอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้พยานได้รับการติดต่อจากญาติและบุคคลที่ต้องการ ทั้งนี้ ภายใต้วิธีการที่เจ้าหน้าที่คุ้มครองพยานกำหนด, 6. จัดให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขในการคุ้มครองตามความเหมาะสม และ 7. วิธีการอื่นใดที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีหรือคณะกรรมการเห็นว่าเหมาะสมแก่สถานะและสภาพของผู้รับการคุ้มครอง
การสิ้นสุดคุ้มครองพยาน
สำหรับการสิ้นสุดการให้ความคุ้มครอง ซึ่งการคุ้มครองพยานอาจสิ้นสุดลงเมื่อมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ 1. ผู้รับการคุ้มครองตาย, 2. ผู้รับการคุ้มครองร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษรให้ยุติการคุ้มครอง, 3. ผู้รับการคุ้มครองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามคำสั่งที่คณะกรรมการหรืออธิบดีกำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร, 4. ผู้ให้ความยินยอมแทนผู้รับการคุ้มครองเพิกถอนการให้ความยินยอม
5. พฤติการณ์หรือสถานภาพของผู้รับการคุ้มครองเปลี่ยนแปลงไป และไม่มีความจำเป็นต้องให้ความคุ้มครอง หรือมิอาจให้ความคุ้มครองได้อีกต่อไป เช่น ผู้กล่าวหา ผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญา ซึ่งพยานต้องไปให้ถ้อยคำถึงแก่ความตาย หรือมีการสืบพยานผู้รับความคุ้มครองในชั้นศาลเสร็จสิ้นแล้ว เป็นต้น
6. พยานไม่ยอมให้ถ้อยคำ หรือไม่ยอมให้การเป็นพยานโดยไม่มีเหตุอันควร, 7. ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษพยานในความผิดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล หรือความผิดฐานทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในคดีที่ผู้นั้นเป็นพยาน และ 8. เมื่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้รับแจ้งจากผู้ร้องขอว่า ประสงค์จะให้การคุ้มครองพยานสิ้นสุดลง โดยได้รับความยินยอมจากพยาน เว้นแต่พยานไม่สามารถให้ความยินยอมได้