ปัจจุบันประเทศไทย ยังคงเผชิญต่อปัญหาและความท้าทายในประเด็นต่างๆ หลายมิติ โดยเฉพาะมิติที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมในสังคม ยังคงมีต่อเนื่อง และเป็นหนึ่งในประเด็นที่การนำเสนอข่าวของสื่อสาธารณะ ต้องการผลักดันให้รัฐบาลรับรู้ และนำไปสู่การเปลี่ยน ซึ่งจะเห็นชัดเจนว่าในปีนี้ ปัญหาหลากหลายที่เกิดขึ้นในสังคม ส่งผลให้สังคมเกิดช่องว่างระหว่างชนชั้น และความไม่เท่ากันของการใช้ชีวิตในสังคม ปัญหาเหล่านี้ นำมาสู่การจัดเวทีของสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในวันนี้
น.ส.ธนพร วิจันทร์ ประธานสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการไทยพีบีเอส เปิดเผยว่า ประเด็นทางสังคม ที่ไทยยังต้องเผชิญมีมากมายหลายเรื่องราว เช่น
- ปัญหาฝุ่นพิษ พีเอ็ม 2.5
- ปัญหาวิกฤตน้ำท่วม
- ฝุ่นควันไฟป่า
- การขยายตัวของโครงการ เขตพัฒนาพื้นที่พิเศษ ภาคตะวันออก หรือ อีอีซี
- ปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน
- ปัญหาขยะทะเล และขยะทั่วไป
- การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ
- ปัญหาปากท้องประชาชน
- ปัญหาสิทธิชุมชน ความมั่นคงทางที่อยู่อาศัย
หลายประเด็นสถานการณ์ทางสังคม ล้วนถูกสะท้อนสู่เวทีสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการไทยพีบีเอส ต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นต่อคุณภาพสังคม ที่ยังต้องการความร่วมมือผลักดันการแก้ปัญหา ทั้งจากรัฐบาลในฐานะผู้นำประเทศ และ สื่อมวลชน เช่นไทยพีบีเอส ในฐานะองค์กรสื่อสาธารณะ เพื่อให้การขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมนำไปสู่การแก้ปัญหาทางสังคม
โดยปีนี้ ไทยพีบีเอส จะร่วมผลักดันใน 6 มิติ ได้แก่ 1.มิติด้านสังคม คุณภาพชีวิต 2.ประเด็นการศึกษา การเรียนรู้ 3.ประเด็นสื่อสาธารณะ 4.มิติด้านเศรษฐกิจ การพัฒนา 5.ด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุดท้าย คือ มิติด้านพหุวัฒนธรรม การขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ จะสอดคล้องไปกับการขับเคลื่อนตรวจสอบหลังจากที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาที่จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมถึงเป็นประเด็นที่สภาผู้ชมฯ ได้จัดเวทีรับฟังข้อเสนอจากเวทีต่างๆ มาแล้ว รวม 27 ครั้ง ในช่วงครึ่งปีมานี้
หนุนลดเหลื่อมล้ำ เน้นปฏิรูปการศึกษาทุกมิติ
นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เปิดเผยว่า ขณะนี้เรามีแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญ และมีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ม.270 โดยกรรมาธิการด้านการศึกษา ได้ศึกษาไว้ 30 กว่าเรื่องที่เกี่ยวกับการเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งหากต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาให้ได้ก่อน เพราะมันง่าย การศึกษาอยู่ในมิติทุกๆ เรื่อง ภูเขา ป่าไม้ ชุมชน เมือง รัฐแทบไม่ต้องลงทุน แต่ทำอย่างไรจะให้การศึกษาเข้าถึงทุกคน เสมอภาค เข้าถึงและเท่าเทียม เราเชื่อว่าถ้าทุกคนรับการศึกษาเท่ากันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ได้โดยอัตโนม้ติแต่ต้องใช้เวลา โดยต้องอาศัยนโยบายของรัฐเป็นสำคัญ และคนนำไปปฏิบัติต้องเข้า หลายประเด็นพยายามอย่ายึดโยงเข้ามาที่อำนาจส่วนกลาง
วันนี้ถึงเวลาที่ต้องกระจายอำนาจแล้ว เช่น งานวิชาการ ข้อเสนอไม่ควรให้ส่วนกลางวัดผลประเมินผล การใช้หลักเกณฑ์กลางประเมิน ไม่ได้ประเมินตามข้อเท็จจริง สภาพความเป็นจริง ไม่ได้ประเมินตามวิถีชีวิต ความจริงการวัดผลประเมินผลต้องวัดจากแต่ละพื้นที่แต่ละแห่งว่าเขาอยู่ได้หรือไม่ เป็นการศึกษาเพื่อรับใช้ชีวิต เอาชีวิตของเขามีรายได้ มีงานทำ มีการเสียภาษีในโลกสมัยใหม่ ยึดผู้เรียนเป็นหลัก นำศักยภาพมาพัฒนา ไม่ใช่การสอบเข้ามหาวิทยาลัย คะแนนสอบ เพราะผู้เรียนบางคนศักยภาพไม่เท่ากัน บางคนเก่งวิทย์ คณิต ศิลป กีฬา ขึ้นอยู่กับสไตล์ ไม่ใช่วิชาชีพที่ถูกบอกว่าดีหรือไม่ ถ้าต้องการให้ประเทศพัฒนา ต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่เป็นหลัก ต้องพัฒนาสร้างคุณค่าค้นหานวัตกรรมของเขาได้
ช่วยรากหญ้าสร้างรายได้ เร่งแก้ปัญหาที่ดินทำกิน
ผศ.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะมีมิติโครงสร้างทางการเมือง โครงสร้างทางอำนาจ การลดความเหลื่อมล้ำจะต้องกระจายอำนาจให้มากขึ้น และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะหลายประเด็นที่ต้องมีกระบวนการตัดสินใจ แต่ถ้าระดับอำนาจการเมืองเป็นฝ่ายตัดสินใจโดยไม่มีประชาชน ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ไม่มีบทบาท สะท้อนปัญหา หรือกำหนดนโยบายต่างๆ ทำให้การแก้ปัญหานั้นๆ จะมีความยากลำบากมากขึ้น มีความซับซ้อน รวมถึงการจัดสรรงบประมาณควรต้องกระจายไปถึงกลุ่มคนด้อยโอกาสและคนยากจน รวมถึงการกระจายอำนาจโดยใช้กลไกการปกครองส่วนท้องถิ่นมาช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะแต่ละพื้นที่จะรู้สภาพปัญหาเชิงพื้นที่ของตัวเอง
ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เกิดการกระจายอำนาจแท้จริงเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะบ้านเรามีการพัฒนาแต่เกิดการหยุดชะงักเป็นช่วง ซึ่งหากมีอำนาจส่วนท้องถิ่นแล้ว ทางส่วนกลางสามารถใช้อำนาจทำเรื่องอื่นๆ ได้ เช่นบริการสาธารณะ หรือ โครงสร้างระดับประเทศ นอกจากนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือรายได้ต่างๆ ของประเทศ ควรทำให้เป็นชุดข้อมูลที่สาธารณะเข้าถึงได้ เพื่อให้ผู้สนใจนำไปใช้และวิเคราะห์เชิงนโยบายได้
ส่วนประเด็นความเหลื่อมล้ำทางที่ดิน ที่อยู่อาศัย จากการศึกษาพบว่ามีปัญหาการถือครองที่ดินที่เป็นไปในทิศทางกระจุกตัวสูง ในขณะที่ยังเห็นประเด็นปัญหาของชาวบ้านที่ยังไม่มีที่ทำกินจนต้องไปบุกรุกพื้นที่ป่าพื้นที่สาธารณะ จึงเป็นภาพสะท้อนชัดว่าเขาไม่มีที่ดินที่จะถือครองเพื่อให้เข้าไปทำประโยชน์ได้ ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มที่มีเงินที่สามารถซื้อที่ดินต่างๆ ได้เพื่อทำประโยชน์ หรือ เพื่อทำกำไร ซึ่งมีความแตกต่างเยอะ การแก้ไขทำได้โดยยากเนื่องจากสั่งสมเป็นเวลานาน และประเทศไทยไม่มีการปฏิรูปที่ดิน ทำให้เกิดการกระจุกตัวสูง ซึ่งแนวโน้มการถือครองที่ดินค่อนข้างมีความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นสังคมเมืองหรือสังคมชนบท โดยเห็นว่าเรื่องนี้ควรเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่ควรเข้ามาแก้ไขปัญหา ไม่ควรให้เกิดปัญหายืดเยื้อไปนานกว่านี้
เรื่องที่ดิน เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ถ้าเขาไม่มีความมั่นคงในที่ดิน การผลิตต่างๆ เป็นไปได้ยาก เพราะส่วนนี้จะไปสร้างรายได้ให้กับประชาชน เมื่อเขาไม่มีปัจจัยการผลิตของตัวเอง จึงมีผลต่อความเหลื่อมล้ำ เพราะไม่สามารถทำรายได้ได้ ดังนั้น การลดความเหลื่อมจึงเป็นไปได้ยาก ในเมื่ออีกกลุ่มหนึ่งมีรายได้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่กลุ่มรากหญ้าไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
การพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กับ การใช้พื้นที่เพื่อเกษตรกรรมนั้น ต้องดูความสมดุลร่วมกัน เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้หมายความว่าต้องเน้นด้านใดด้านหนึ่ง เพราะอุตสาหกรรมเป็นกลจักรหนึ่งในการพัฒนาที่สำคัญ แต่ความสมดุลเป็นเรื่องสำคัญ แต่ทางภาคเกษตรก็เป็นอีกมิติหนึ่ง เพราะไทยพยายามบอกว่า เป็นประเทศเกษตรกรรม แต่ถ้าประชาชนยังไม่มีความมั่นคงด้านที่ดิน ก็ต้องมีการพัฒนาให้สมดุล ไม่เช่นนั้นก็จะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น
"ไทยพีบีเอส" พร้อมเชื่อมประเด็นสังคมหลากมิติ
นายพิภพ พานิชภักดิ์ รองผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ระบุว่า สิ่งที่ไทยพีบีเอสดำเนินการ คือ การใช้ศาสตร์และศิลป์เพื่อเล่าเรื่องราวประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นให้ผู้ชมให้ฐานะผู้รับสารเข้าใจ ทั้งมิติความเหลื่อมล้ำ การลดช่องว่าง ที่เกิดขึ้นในสังคม การใช้ความสามารถพึ่งพาตัวเอง จากความเติบโตเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ และการขับเคลื่อนข้อมูลในมิติต่างๆ ของสังคม เพื่อให้ไทยพีบีเอส เป็นคลังข้อมูลของสังคม โดยพลังหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนได้ คือ สภาผู้ชมผู้ฟังของไทยพีบีเอส ที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความจำเป็นของพื้นที่ท้องถิ่น
เรื่องของโลกอนาคต ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว และเรื่องที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เรื่องที่เกิดขึ้นที่หัวบันไดบ้านของประชาชนก็เป็นเรื่องใหญ่เช่นกัน การเสนอประเด็นต่างๆ ผ่านการเล่าเรื่องของไทยพีบีเอส ในฐานะสื่อสาธารณะ จะเป็นไปในทิศทางการบอกเล่าประเด็นที่เกิดในสังคม นำไปสู่การเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของสังคม และเมื่อสังคมมีส่วนร่วม นั่นคือการส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตยของสังคม เมื่อคนมีส่วนร่วม จะเกิดการผลักดันและความร่วมมือขับเคลื่อนไปด้วยกัน
ชำแหละ EEC สัญญาเช่าที่ดินไม่เท่าเทียม
นายสมนึก จงมีวศิน นักวิชาการภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและจีดีพีในจังหวัดที่ไม่เท่ากัน จะเห็นได้ชัดเจน เช่น โครงการในพื้นที่ EEC ที่มี 3 จังหวัด เป็น 3 จังหวัดที่อยู่ในภาคตะวันออกที่มีทั้งหมด 8 จังหวัด แต่คำถามใหญ่คือ คนในพื้นที่ 3 จังหวัดรวยจริงหรือไม่ ซึ่งก็พบว่าไม่ได้รวยจริง ยังมีคนจนเหมือนเดิม แต่กระจายตัวเปลี่ยนแปลงตามอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น
การพัฒนาพื้นที่ EEC ที่ต้องเดินหน้าตามแผนที่บอกว่า จะพัฒนาประโยชน์สูงสุดตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน 8.29 ล้านไร่ มีเป้าหมายพื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แต่ก่อนที่ พ.ร.บ. EEC จะประกาศใช้ ต้องผ่านกลไลของอำนาจของ คสช. หน่วยงานรัฐ กรรมการที่ตั้งโดยรัฐ และ ครม. ซึ่งทำให้เห็นถึงการใช้อำนาจของรัฐโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
หลังจากมี พรบ.EEC เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีการประกาศพื้นที่เขตส่งเสริมเอกชนไปแล้วจำนวน 21 แห่ง เช่น กลุ่มอมตะนคร กว่า 40,000 ไร่ กลุ่มเหมราช กว่า 24,000ไร่ ฯลฯ
แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ คนในพื้นที่ กลับต้องไปเช่าที่ดินที่เอกชนเขาอยู่ บางคนถูกไล่ที่จากที่ดินรัฐ โดยเตรียมไว้ให้เอกชนในหลายพื้นที่ ซึ่งสิทธิ์ของประชาชนในการเช่าพื้นที่ มีสัญญาเช่าครั้งละ 3 ปี แต่ถ้าเปรียบเทียบกับเอกชนที่เช่าที่ สามารถเช่าได้ครั้งละ 50 ปีบวก และยังได้สิทธิ์ลดหย่อนต่างๆ ในการลงทุนจากรัฐ นี่เป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นชัดเจน
หยุดส่งต่อความยากจน ด้วยรัฐสวัสดิการ
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า สังคมนี้ ปัจจุบันสังคมไทย ยังไม่มีรัฐสวัสดิการที่รองรับสำหรับคนที่มีชีวิตตกต่ำสุดๆ ที่เกิดจาการเหลื่อมล้ำ แต่เป็นการพูดถึงภาพทั่วไป ที่เป็นความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ด้านรัฐสวัสดิการทั่วไปมารองรับ ซึ่งประเด็นรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุมได้ จะเป็นเครื่องมือการหยุดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ หากต้องการหยุดส่งต่อความยากจนต้องผลักดันรัฐสวัสดิการให้ได้
นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันกฎหมายบำนาญแห่ชาติ ซึ่งจะไปยื่นสภา วันที่ 16 ต.ค.นี้ เพื่อผลักดันให้สภาพิจารณาออกกฎหมาย เพื่อให้ทุกคนต้องมีหลักประกันด้านรายได้และเพียงพอ แต่สิ่งที่กังวลคือการผ่านขั้นตอนของรัฐ ก็จะเกี่ยวกับการเงิน และกังวลว่า นายกรัฐมนตรีจะไม่พิจารณาให้ผ่านและอดีตจะเห็นว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน ไม่เคยผ่านการพิจารณาของนายกฯ จึงจำเป็นต้องมีการสร้างความเข้าใจในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อสังคม หากต้องการเห็นความเป็นธรรมในสังคมได้จริง
หากการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม สุดท้ายจะไปจบที่อำนาจทางการเมือง รัฐบาล หรือ คณะรัฐมนตรี การขับเคลื่อนที่ไม่ได้เกิดจากภาคประชาสังคมจริงๆ จะเป็นไปด้วยความยากและแทบไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะผลักดันในมิติใดๆ ทางสังคม หรือ ที่ผ่านมากว่า จะผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ โดยกำหนดหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการลดความเหลื่อมล้ำ แต่ 16 ปี ที่ผ่านหลายประเด็นเหล่านี้ ไม่ถูกขับเคลื่อนหรือผลักดัน เพราะคนพิจารณา เป็นข้าราชการ เป็นนักการเมือง จึงทำให้เห็นว่าถ้าภาคประชาชนอยากลดความเหลื่อมล้ำอยากได้ความเป็นธรรม ก็เป็นเรื่องเหนื่อยยาก ซึ่งขั้นตอนสุดท้ายที่อำนาจรัฐตัดสินใจ ต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมต่อการตัดสินใจในกระบวนการที่เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นปัญหาความเหลื่อมล้ำก็จะเกิดเป็นวังวนจนหลายคนมองไม่เห็นความเหลื่อมล้ำ
อ้างกฎหมายบีบไล่ที่ชาวบ้านสร้างเมืองเหมือง
นายประยงค์ ดอกลำไย ประธานกรรมการประธานกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ระบุว่า หนึ่งในปัญหาความเหลื่อมล้ำขณะนี้เห็นตัวอย่างได้ชัดเจน จากการอนุมัติให้ทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ อย่างเช่น วันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา มีการอนุมัติให้บริษัทเหมืองระเบิดหิน ทำหินปูน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านคัดค้าน รวมถึงเมื่อวานนี้ มีการคัดค้านที่อมก๋อย จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่ชาวบ้านถูกไล่ยึดที่ดิน เพื่อเตรียมนำไปให้ทำเหมืองแร่ นี่เป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น
ประเทศไทยต้องการพื้นที่ป่า 40% ตอนนี้เหลืออยู่ 31% สัตว์ป่าหลายชนิดสูญพันธุ์ และใน 40 ปีที่ผ่านมาประเทศไทย มีป่าหายไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งการดูแลผืนที่ป่าต้องกระจายอำนาจให้ชาวบ้านในพื้นที่ช่วยกันดูแลรับผิดชอบ ไม่ใช่ให้อำนาจเด็ดขาดอยู่ที่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หรือ กรมป่าไม้ เท่านั้น
ที่ผ่านมาปัญหาภูเขาหัวโล้น กลายเป็นวาทกรรมที่รัฐสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดความเกลียดชัเกษตรกร ชาวไร่ในพื้นที่ แต่ถามว่าการทำลายป่าจากรัฐที่เอื้อกลุ่มทุนทำเหมือง หรือ ทำธุรกิจใหญ่ด้านการเกษตร ซึ่งในประเทศไทยต้องพูดถึงห่วงโซ่ทั้งวงจร ต้องดูให้ครบองค์รวมด้วย
ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เช่น ที่ดินที่เอกสารสิทธ์ 32 ล้านฉบับ แต่พบว่ามีกลุ่มคนของตระกูลหนึ่งที่ถือครองมากที่สุดขณะนี้มีที่ดินอยู่ 6.3 แสนไร่ ส่งผลทำให้ประชาชนหลายจังหวัด ไม่มีความมั่นคงทางที่อยู่อาศัย ซึ่งเมืองไทยปล่อยให้เกิดปัญหาแบบนี้ได้อย่างไร
หวังอำนาจรัฐส่วนกลาง เข้าถึงจิตวิญญาณคนชายขอบ
นายเกรียงไกร ชีช่วง กรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงและชาวเล ระบุว่าประเด็นคนชายขอบ นับว่าเป็นการถ่วงดุลทางสังคม เพราะเป็นความสัมพันธุ์หนึ่งของประเทศ แต่น่าแปลกที่ศูนย์กลางอำนาจการบริหารประเทศอยู่ที่ส่วนกลาง จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นโดยคนตรงกลางที่เป็นผู้ออกแบบไม่ทำให้เกิดควาสมดุล
คนชายขอบมักให้ความสำคัญกับเรื่องจิตวิญญาณในการดำรงอยู่ แต่ถ้าคนส่วนกลางเห็นคนเป็นคนเท่ากัน ไม่มีกับดักผลประโยชน์ปัญหาอื่นๆ ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็จะแก้ได้ สุดท้ายสร้างความปั่นป่วนทั่วประเทศที่เกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำ รวมถึงปัญหารัฐสวัสดิการจะเดินหน้าได้ ปัญหาไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่จะไม่เกิดขึ้น กลุ่มกะเหรี่ยงและชาวเล ก็จะอยู่ได้ด้วย
การใช้ชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยตามชายขอบประเทศกลับถูกสร้างถูกมองว่า เป็นปัญหาต่อสังคม เป็นอุปสรรค ทำให้รัฐไม่สามารถใช้ทรัพยากรได้ อำนาจรัฐส่วนกลางก็ดราม่าไปกับกระแส เกิดการเชื่อว่าพวกเราสร้างปัญหาจริง ทั้งๆ ที่ถ้าใช้หัวใจใช้จิตวิญญาณร่วมวิเคราะห์ประมวลดูจะพบว่า คนชายขอบไม่ได้สร้างปัญหาเช่นนั้น แต่พวกเราถูกกระทำถูดจัดการจากอำนาจรัฐส่วนกลาง ที่ไม่มีหัวใจ จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
การผลักดันเรื่องอัตลักษณ์ก็เช่นกัน จริงๆ แล้วก็คือ การกดขี่การละเมิดสิทธิ์ การเอาภาพของพี่น้องชาติพันธุ์ไปถ่าย มีการตีตราพวกเราไว้ ตอนมีปัญหาคุณบอกพวกเรามีปัญหา แต่เวลาท่องเที่ยวกลับบอกให้นักท่องเที่ยวมาดูพวกเรา มากดพวกเรา ประเด็นเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจน
ในประเด็นหลากหลายของคนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ ยังสะท้อนถึงปัญหาไร้สัญาชาติ การศึกษา คุณภาพ ตามหลักสูตรท้องถิ่น โรงเรียนขนาดเล็กในชนบทถูกยุบ หรือ กระแสการให้เงินสวัสดิการสำหรับการเที่ยว แต่ไม่มีเงินจ่ายสำหรับครูอัตราจ้าง ประเด็นเหล่านี้ก็น่าสนใจในสังคม และมองให้เห็นถึงมิติความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน