วันนี้ (9 ม.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ในออสเตรเลีย เปิดงานวิจัย "No Plastic in Nature: Assessing Plastic Ingestion from Nature to People" ธรรมชาติต้องปราศจากพลาสติก ค้นหาปริมาณพลาสติกจากแหล่งธรรมชาติสู่วงจรบริโภคของมนุษย์
พบมนุษย์อาจบริโภคพลาสติกขนาดเล็ก เข้าสู่ร่างกายประมาณ 5 กรัมต่อสัปดาห์ เทียบเท่า กับบัตรเครดิต 1 ใบ คิดเป็นปริมาณพลาสติกกว่า 2,000 ชิ้น หรือ 21 กรัมต่อเดือน 250 กรัมต่อปี
โดยงานวิจัยนี้ถือเป็นงานประมวลผลข้อมูลเชิงวิชาการเป็นครั้งแรกของโลก ที่รวบรวมมาจากข้อมูลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคไมโครพลาสติกในมนุษย์ทั้งสิ้นกว่า 50 ฉบับเป็นครั้งแรกของโลก ที่รวบ รวมมาจากข้อมูลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคไมโครพลาสติกในมนุษย์ทั้งสิ้นกว่า 50 ฉบับ การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เกิดการศึกษาต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเข้าใจ และค้นหาความจริง ถึงผลกระทบของพลาสติกที่มีต่อร่างกาย และสุขภาพของมนุษย์

ภาพ:WWF
ภาพ:WWF
ชี้พลาสติกปนเปื้อนเข้าห่วงโซ่อาหาร
นายมาร์โค แลมเบอตินี่ ผู้อำนวยการทั่วไป WWF International กล่าวว่า ผลการวิจัยชี้ให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วน ที่ทุกภาคส่วนจะต้องก้าวเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษของขยะพลาสติกอย่างจริงจัง โดยเฉพาะรัฐบาลของแต่ละประเทศ ที่เป็นผู้ควบคุม ออกกฎหมาย ก่อนที่วงจรห่วงโซ่อาหารของมนุษย์จะปนเปื้อนด้วยไมโครพลาสติก จนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ปัจจุบันการปนเปื้อนของพลาสติก และไมโครพลาสติกในมหาสมุทร เกิดจากการทิ้งขยะที่สร้างขึ้นบนบกลงสู่ทะเล คิดเป็นปริมาณมากกว่า 8,000 ล้านตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการทิ้งขยะจากรถบรรทุกลงสู่ทะเล 1 คันในทุกๆ 1 นาที
งานวิจัยฉบับนี้เป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดเชิงวิทยาศาสตร์ว่า ว่าไม่มีเวลาอีกต่อไปแล้วที่จะลงมือปฏิบัติ ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณไปยังหน่วยงานภาครัฐของทุกประเทศ ให้ก้าวเข้ามาทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

กินอยู่ไม่รู้ตัวพลาสติก 5 กรัมเทียบบัตรเครดิต 1 ใบ
ด้าน น.ส.พิมพ์พาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล กล่าวว่า ปัญหาขยะพลาสติก เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายพยายามหาทางแก้ไข ในส่วนของภาคประชาชน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาจต้องใช้เวลา ในส่วนของภาครัฐก็เป็นสัญญาณที่ดี ที่รัฐบาลมีความจริงจังในการทำงานอย่างต่อเนื่อง
น.ส.ดวงกมล วงศ์วรจรรย์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาดเพื่องานอนุรักษ์ WWF ประเทศไทย กล่าวถึงการรณรงค์ภายใต้โครงการ Your Plastic Diet หรือกินอยู่ไม่รู้ตัวว่า กิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้เกิดขึ้นบนข้อสรุปของงานวิจัย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สังคมรับรู้ว่าพลาสติกสร้างผลกระทบต่อสัตว์ต่างๆ ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยจนเกิดการสูญเสียชีวิต แต่ยังไม่มีใครเคยทำการศึกษาอย่างจริงจังว่า พลาสติกจะสร้างผลกระทบให้กับมนุษย์ได้มากเท่าใด

ทั้งนี้ WWF รณรงค์ในกิจกรรมกินอยู่ไม่รู้ตัว เพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนไทย ให้เกิดความเข้าใจว่า ปัญหาขยะพลาสติกไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปรียบเทียบให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า ปริมาณพลาสติกที่อาจปนเปื้อนสู่ระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ เทียบเท่ากับการบัตรเครดิต 1 ใบ โดย WWF ยังเปิดตัวเว็บไซต์ที่ประเมินปริมาณพลาสติกที่เราบริโภคเข้าไปในแต่ละวัน โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.yourplasticdiet.org และร่วมลงชื่อสนับสนุนโครงการ วันนี้มีผู้ลงชื่อร่วมกับ WWF แล้วทั่วโลกมากกว่า 1.5 ล้านคน