ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไทยได้แค่ชะเง้อเมียนมา เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด 5 ปี ยังไม่เกิด

เศรษฐกิจ
24 ม.ค. 63
13:42
2,684
Logo Thai PBS
ไทยได้แค่ชะเง้อเมียนมา เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด 5 ปี ยังไม่เกิด
ไทยได้แค่ชะเง้อเมียนมา หลังทุนจีนรุกคืบเมียวดี ลงทุนสร้างแหล่งธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม อย่างรวดเร็ว ขณะที่เขตเศรษฐกิจแม่สอด 5 ปี แล้วยังไม่คืบไปถึงไหน

ในแต่ละปี อ.แม่สอด จ.ตาก มีมูลค่าการส่งสินค้าชายแดนเกือบ 1 แสนล้านบาท ทำให้ภาครัฐส่งเสริมประกาศให้พื้นที่แม่สอด เป็นหนึ่งในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า ปัญหาใหญ่ๆ คือ การบริหารจัดการ และความชัดเจนในด้านระเบียบ กฎหมาย ขณะที่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ติดขัดกฎระเบียบมีการลงทุนขนาดใหญ่ของทุนจีนมูลค่ากว่า 4.5 แสนล้านบาท ตรงข้าม อ.แม่สอด

ผ่านมาแล้วกว่า 5 ปี เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตาก ในอ.แม่สอด ยังไม่เกิด นายกเทศมนตรีนครแม่สอด จ.ตาก สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แม้จะมีระบบสาธารณูปโภคที่ภาครัฐมาลงทุน และเปิดใช้งานสมบูรณ์แบบ เมื่อปีที่ผ่านมา ทั้งถนน สะพาน และสนามบิน แต่ทำไมไม่มีนักลงทุน?

นายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด จังหวัดตาก เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนจีนที่สร้างเมืองใหม่ที่เมืองโก๊กโก่ จ.เมียวดี ประเทศเมียนมาอนาคตจะมีการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมฝั่งตรงข้ามชายแดนไทย ซึ่งจะดึงดูดเม็ดเงินมหาศาลทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ เพราะทุนจีนเช่าพื้นที่กับรัฐบาลเมียนมากว่า 7.5 หมื่นไร่ เพื่อพัฒนาเขตเมืองและอุตสาหกรรม

 

 

แต่เมื่อมาดูฝั่งไทยโดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณอำเภอแม่สอดที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล กลับพบว่า มีแต่นโยบายแต่ยังขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ชัดเจน ที่ผ่านมาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน แต่ทำหน้าที่เพียงผู้ประสานงานกับรัฐบาลส่วนกลาง แม้จะมีศูนย์ประสานงานเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ไม่มีอำนาจ หรือระเบียบกฎหมายให้อำนาจหน่วยงานต่างๆ หน่วยงานที่เคยมาอยู่รวมกัน เพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุนเเบบเบ็ดเสร็จหลายหน่วยงานก็กระจายไปอยู่ที่ต่างๆ ขณะที่สิทธิประโยชน์ ที่รัฐบาลประกาศในเขตเศรษฐกิจพิเศษปัจจุบันก็ไม่มีความชัดเจนสำหรับนักลงทุน

ผมถาม 9 หน่วยงานแล้ว เช่น SMEs สรรพากร แรงงาน ฯลฯ เขาบอกว่าใช่อยู่ในเขตเศษฐกิจพิเศษ แต่ว่าการปฏิบัติไม่ได้มีกฎหมาย หรือระเบียบให้เเจ้งหน่วยงาน เช่นให้ลดภาษีโรงเรือน ก็ไม่สามารถทำได้

ส่วนสิทธิประโยชน์ด้านการค้าชายแดน สิทธิประโยชน์ด้านการนำเข้าและการส่งออกก็ไม่มีสิทธิประโยชน์ที่กำหนดชัดเจน ระบบการจัดการด้านการขนส่ง หรือ โลจิสติกส์ ก็ยังมีปัญหาที่ผ่านมามีการหารือร่วมกับรัฐมนตรี โดยเฉพาะเรื่องการเดินทางโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านที่เสนอให้อยู่ได้ 15 วัน แม้จะมีการอนุญาตเข้ามาได้ แต่ปัญหาคือ รถของต่างชาติไม่สามารถนำมาค้างคืนได้ ต้องนำกลับไปฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะที่ระบบขนส่งสินค้าก็มีปัญหา เช่น รถขนส่งสินค้าของไทย สามารถขนส่งสินค้าไปประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่รถขนส่งสินค้าของประเทศเพื่อนบ้าน ไม่สามารถข้ามฝั่งมาส่งสินค้าประเทศไทยได้ เมื่อข้ามมาไม่ได้ โกดังสินค้าก็ไปอยู่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านเกือบหมดทำให้ผลประโยชน์ไม่อยู่ในฝั่งไทย นอกจากนั้นยังติดปัญหากฎหมายผังเมือง ที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สีเขียว และเป็นเขตป่า

 

 

ขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี มีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะระบบการขนส่ง ขณะที่ในฝั่งประเทศเมียนมาได้เปรียบได้แรงงานที่มีจำนวนมาก และราคาถูก เมื่อเทียบกับไทย เช่น เราจ้างแรงงานเมียนมาในไทยได้ 1 คน แต่ถ้าจ้างในเมียนมา จะได้ลูกจ้าง 2 คน เพราะต้นทุนค่าจ้างแรงงานในไทยสูงกว่า และเมื่อเปรียบเทียบการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด กับเมียวดี ฝั่งเมียนมานับว่าไปได้ไกลกว่า เพราะเป็นนโยบายระหว่างรัฐบาลเมียนมา กับรัฐบาลจีน โดยเฉพาะการลงทุนของกลุ่มทุนจีนที่สร้างเมืองใหม่พัฒนาเป็นโครงการเมืองอัจฉริยะหย่าไถ้ หรือ "ชเวโก๊กโก่" ตรงข้าม อ.แม่สอด เมื่อศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจปัจจุบัน อาจอยู่ที่แม่สอดที่ต้องพึ่งพา หากสร้างเมืองทุนจีนเสร็จ ศูนย์กลางการพัฒนาก็จะเปลี่ยนไปด้วยอำนาจของกลุ่มทุนจีน ที่มีความพร้อมทั้งคนและทุนที่อยู่ชิดชายแดนไทย

สำหรับการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชายแดน และแก้ปัญหาความมั่นคงบริเวณชายแดน โดยกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 1 และ 2 รวม 10 พื้นที่ โดยระยะที่แรกเริ่มในเดือนมกราคม 2558ประกอบด้วยพื้นที่จ.ตาก สระแก้ว มุกดาหาร ตราด และสงขลา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง