ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา

ต่างประเทศ
7 ก.พ. 63
16:54
3,217
Logo Thai PBS
ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในจีนสร้างความวิตกไปทั่ว ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบวิธีการรักษาและวัคซีนป้องกันอย่างเป็นทางการ เรื่องนี้ทำให้ประชาชนในหลายๆ ประเทศตื่นตัวและระดมเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ นานาเกี่ยวกับแนวทางการรักษาและป้องกันบนโลกออนไลน์กันเป็นจำนวนมากและจากการตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ

ความเชื่อแรก คือ การดื่มน้ำกระเทียมต้มสุกใหม่ๆ สามารถรักษาผู้ป่วยติดเชื้อให้หายได้ในชั่วข้ามคืน ซึ่งความเชื่อนี้แชร์กันทั้งในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์และยูทูปในปากีสถาน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ในปากีสถานออกมาเตือนว่ายังไม่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับความเชื่อนี้ 

ความเชื่อที่ 2 เป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ ชาวฟิลิปปินส์ส่วนหนึ่งเชื่อว่าการใช้ยาหยอดตาที่ทำจากบอระเพ็ดสามารถต้านเชื้อไวรัสได้จากคลิปวิดีโอที่มีความยาว 11 นาที มียอดผู้เข้าชมสูงกว่า 1.5 ล้านครั้งในเฟซบุ๊กฟิลิปปินส์

จริงอยู่ที่ตามปกติแล้วบอระเพ็ดเป็นสมุนไพรที่ช่วยบรรเทาอาการไข้และปวดท้อง แต่ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ

ความเชื่อที่ 3 เกิดขึ้นในฮ่องกง หนึ่งในพื้นที่ที่มีปัญหาผู้ติดเชื้อ ชาวฮ่องกงส่วนหนึ่งเชื่อว่าเมื่อประสบปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย สามารถนำเอาหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้งด้วยการนำไปนึ่งฆ่าเชื้อ

คลิปวิดีโอของผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นหมอออกมาแนะนำให้ชาวฮ่องกงนึ่งหน้ากากอนามัยชิ้นนี้ มียอดผู้เข้าชมมากถึง 900,000 ครั้ง ภายในวันเดียว

 

ขณะที่หลังจากสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกง ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลจีนช่วยกระพือข่าวและระดมแชร์คลิปนี้บนสื่อสังคมออนไลน์ภาษาจีนไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊กและเว่ยป๋อ เรื่องนี้เดือดร้อนไปถึงองค์การอนามัยโลกและหน่วยงานด้านสาธารณสุขฮ่องกง ต้องรีบออกมาเตือนไม่ให้นึ่งหน้ากากอนามัยและนำกลับมาใช้ใหม่

ส่วนความเชื่อที่ 4 เกิดขึ้นในศรีลังกา ความเชื่อนี้เป็นบทความที่ถูกเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ทันทีที่รัฐบาลศรีลังกายืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อเป็นคนแรกในประเทศ โดยเชื่อว่ามหาหิงคุ์ พืชสมุนไพรที่ใช้กับยาแผนโบราณตำรับอินเดียสามารถป้องกันการติดเชื้อได้

เรื่องนี้ทำให้แพทย์และหน่วยงานสาธารณสุขของศรีลังการีบออกมาปฏิเสธเช่นเดียวกัน เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานใดๆ มารองรับ

สุดท้ายคือความเชื่อที่มีหมอผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจของจีนคนหนึ่งแนะนำให้ประชาชนบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ เพราะจะช่วยฆ่าเชื้อได้ นี่ก็เป็นความเชื่อที่ไม่มีหลักฐานและการศึกษาวิจัยใดๆ มาช่วยสนับสนุนว่าน้ำเกลือจะฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้จริงๆ

 

ตัวอย่างเหล่านี้ช่วยสะท้อนให้เห็นว่า Fake News หรือข่าวเท็จในกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นได้ในโลกสื่อสังคมออนไลน์ได้ทุกเมื่อเชื่อวันและไม่มีพรมแดนด้วย ดังนั้นการเสพสื่อเหล่านี้ย่อมต้องใช้วิจารณญาณอย่างมากและที่สำคัญเชื่อหน่วยงานด้านแพทย์ที่ออกมาให้ข้อมูลจะดีที่สุด

พงศธัช สุขพงษ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส เรียบเรียง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง