TIJ เสนอแนวทางลดผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ป้องไวรัสระบาด

สังคม
27 มี.ค. 63
19:59
834
Logo Thai PBS
TIJ เสนอแนวทางลดผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ป้องไวรัสระบาด
TIJ เสนอพิจารณาให้ผู้ต้องขังบางส่วนพ้นโทษก่อนกำหนด หรือให้บางส่วนได้รับการพักโทษปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้กำไล EM ติดตาม เพื่อแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ หวั่นความแออัดทำ COVID-19 ระบาด

วันนี้ (27 มี.ค.2563) ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์ในเรือนจำ ระบุว่า การพบผู้ต้องขังในเรือนจำติดเชื้อ COVID-19 แล้ว 2 คน โดยคนแรก คือ ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์จากกรมคุมประพฤติ ซึ่งถูกควบคุมตัวไว้ที่สถานรอการตรวจพิสูจน์ ข้างเรือนจำกลางคลองเปรม และคนที่ 2 เป็นผู้ต้องขังที่เรือนจำจังหวัดราชบุรี

แม้ว่าทางกรมราชทัณฑ์จะยืนยันว่า มีมาตรการในการกักตัวผู้ต้องขังใหม่ก่อนเข้าเรือนจำและมีมาตรการการควบคุมโรคเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีความน่าเป็นห่วง เพราะในปัจจุบันมีผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำถึงประมาณ 3.7 แสนคน แต่เรือนจำทั่วประเทศมีศักยภาพรองรับได้เพียงประมาณ 2.5 แสนคน ทำให้ไม่สามารถทำตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ภายในเรือนจำได้ เพราะอยู่ในสภาพแออัดมาก


ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ ระบุว่า เมื่อพิจารณาลงไปในข้อมูลเชิงลึกจะพบว่า มีผู้ต้องขังจำนวนมากที่อาจไม่จำเป็นต้องมาอยู่ในเรือนจำ คือ ผู้ต้องขังคดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งเหลือโทษจำคุกไม่ถึง 1 ปี ประมาณ 72,000 คน ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี คือ กลุ่มที่ต้องจำคุกทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุดและกลุ่มที่ไม่มีหลักทรัพย์มาประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี มีถึง 67,000 คน ผู้ต้องขังอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 5,800 คน และผู้ต้องขังคดีลหุโทษซึ่งมีความผิดเพียงเล็กน้อย แต่ถูกตัดสินจำคุกอีกประมาณ 9,000 คน

สำหรับตัวเลขเหล่านี้ประกอบกับการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความแออัดในเรือนจำในช่วงที่ไวรัส COVID-19 ระบาด ทาง TIJ จึงเสนอว่า ควรมีกระบวนการพิจารณาให้ผู้ต้องขังบางส่วนพ้นโทษก่อนกำหนด และพิจารณาให้บางส่วนได้รับการพักโทษปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีมาตรการคุมประพฤติ หรือใช้กำไล EM เป็นเครื่องมือคุมประพฤติคอยติดตามพฤติกรรม เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเรือนจำในภาวะวิกฤต และความปลอดภัยและสุขภาพในเรือนจำและในสังคม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง