วันนี้ (12 เม.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกแถลงการณ์เรื่องการจัดการเรียนการสอนช่วง COVID-19 ครั้งที่ 1 โดยระบุว่า สวัสดีครับ ครู นักเรียน บุคลากรทางการศึกษา สื่อมวลชนและประชาชนทุกคน ตามที่หลายท่านอาจทราบแล้วว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันอังคารที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา มีมติรับทราบการเลื่อนเปิดเทอมจากวันที่ 16 พ.ค. เป็นวันที่ 1 ก.ค.2563 ซึ่งผมขอย้ำกับทุกท่านอีกครั้งว่า
เลื่อนเปิดเทอมเป็นมติเดียวที่ได้ข้อสรุปแล้ว
“การเลื่อนการเปิดเทอม เป็นมติเดียวเท่านั้นที่ได้ข้อสรุปแล้ว การดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อนำเสนอและหาข้อสรุปในลำดับถัดไป”
ในช่วงเวลานี้ ผมเข้าใจดีถึงความกังวลและข้อสงสัยของทุกท่านต่อการเลื่อนเปิดเทอมและการจัดการเรียนการสอนที่อาจส่งผลกระทบในหลายด้านทั้งต่อตัวเด็ก ผู้ปกครอง ไปจนถึงครูและโรงเรียน ผมจึงคิดว่ามีความจำเป็น ที่จะต้องแจ้งความคืบหน้า และการตัดสินใจต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนคลายความกังวล ตลอดจนได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริง เพื่อให้สามารถนำไปขยายผลต่อได้อย่างถูกต้อง
ภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ที่ไม่มีใครเคยพบเจอมาก่อน สิ่งที่ผม ในฐานะรัฐมนตรีและตัวแทนของเจ้าหน้าที่ในนามกระทรวงศึกษาธิการทุกคน ตระหนักอยู่เสมอ คือไม่ว่าสถานการณ์แวดล้อมจะเลวร้ายและรุนแรงแค่ไหน การเรียนรู้ที่เข้าถึงและมีคุณภาพสำหรับเด็กไทยทุกคนเป็นเป้าหมายสูงสุดของเรา ตามแนวคิด
“การเรียนรู้นำการศึกษา”
โรงเรียนอาจหยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้
การจัดการเรียนการสอนบนพื้นฐาน 6 ข้อ
ด้วยหลักดังกล่าว เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนสามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เท่าที่สภาพแวดล้อมจะอำนวย โดยที่การตัดสินใจทั้งหมดนับจากนี้ จะตั้งอยู่บนพื้นฐานทั้งหมด 6 ข้อได้แก่
1. จัดการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของทุกคนที่เกี่ยวข้อง (การเปิดเทอมอาจหมายถึง การเรียนที่โรงเรียนหรือการเรียนที่บ้าน ทั้งนี้การตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับผลการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด)
2. อำนวยการให้นักเรียนทุกคน สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้ แม้จะไม่สามารถไปโรงเรียนได้
3. ใช้สิ่งที่มีอยู่แล้ว ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การเสนอขอช่องดิจิทัล TV จาก กสทช. ทั้งหมด 13 ช่องเพื่อให้นักเรียนทุกระดับชั้น สามารถเรียนผ่าน DLTV ได้ ทั้งนี้จะยังไม่มีการลงทุนเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ใด ๆ เพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น
4. ตัดสินใจนโยบายต่าง ๆ บนพื้นฐานของการสำรวจความต้องการทั้งจากนักเรียน ครู และโรงเรียน ไม่คิดเองเออเอง โดยให้การจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นที่ตั้ง และกระทรวงจะสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
5. ปรับปฏิทินการศึกษาของไทย ให้เอื้อต่อการ “เรียนเพื่อรู้” ของเด็กมากขึ้น (รวมทั้งมีการปรับตารางเรียนตามความเหมาะสม โดยเวลาที่ชดเชยจะคำนึงถึงภาระของทุกคนและการได้รับความรู้ครบตามช่วงวัยของเด็ก)
6. บุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน จะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง และทำให้ท่านได้รับผลกระทบเชิงลบจากการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด
เตรียมประเมินความพร้อม-ความต้องการ ร.ร.
ขณะนี้ ทางกระทรวงได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อประเมินความพร้อมและความต้องการของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ ทั้งในเรื่องของรูปแบบการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน โดยผมจะนำผลลัพธ์และข้อสรุปที่ได้มาชี้แจงกับทุกท่านในลำดับถัดไป หากทุกท่านมีข้อแนะนำ หรือข้อมูลใดที่เป็นประโยชน์ ผมและทีมงานพร้อมและมีความยินดีที่จะรับฟัง เพื่อนำมาใช้สนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย บนพื้นฐานความเข้าใจที่มีต่อทุกฝ่าย
การเลื่อนเปิดเทอม ในมุมหนึ่ง ก็เป็นการตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็นับเป็นโอกาสและช่วงเวลาสำคัญในการปรับปรุงระบบการศึกษาของประเทศ ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับการศึกษาไทยสู่ความเป็นเลิศอย่างแท้จริง ผมอยากเชิญชวนทุกท่าน มาร่วมกันกับผมและกระทรวงศึกษาธิการ นำเสนอความคิดและเผยแพร่เรื่องราวเชิงสร้างสรรค์
เพราะเด็กๆ ที่อยู่ในระบบการศึกษา ล้วนแล้วแต่เป็นลูกและหลานของพวกเรา รวมถึงเป็นอนาคตของประเทศทั้งสิ้น
ตั้งเป้าฝ่าวิกฤต-สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ผมขอให้คำมั่นว่า จะพยายามอย่างสุดความสามารถ ให้เราผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้อย่างราบรื่นที่สุด มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยคำนึงผลประโยชน์ระยะยาวควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาระยะสั้น ระบบการศึกษาที่ดี ไม่ควรทำให้เด็กมีความรู้ ทักษะ และความสามารถเท่านั้น แต่จะต้องสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ถ้าพวกเราร่วมมือกันและก้าวเดินไปในทิศทางเดียวกัน
ขอบคุณทุกท่าน ที่ช่วยกันสร้างพลังบวก และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับการศึกษาไทย