5 กระทรวงสรุปมาตรการช่วยผู้รับผลกระทบ COVID-19

การเมือง
15 เม.ย. 63
16:14
817
Logo Thai PBS
5 กระทรวงสรุปมาตรการช่วยผู้รับผลกระทบ COVID-19
กระทรวงพลังงาน-เกษตรฯ-พม.-มหาดไทย-สธ. ย้ำมาตรการรับมือCOVID-19 เป็นรูปธรรม เน้นช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มให้ผ่านพ้นวิกฤตเฉพาะหน้า

วันนี้ (15 เม.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปลัดกระทรวง 5 กระทรวง แถลงความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้เปลี่ยนอัตราค่าใช้ไฟฟ้า 3.60 บาท ต่อหน่วยถึงเดือนมิ.ย.

ผ่อนผันให้โรงงานขนาดเล็กจากเดิมมีการจ่ายค่าไฟในอัตราคงที่ เป็นจ่ายตามใช้จริง พร้อมลดค่าไฟให้ 30 % ให้กับโรงแรมหรือหอพักที่ผันตัวเองให้เป็นโรงพยาบาลสำหรับดูแลผู้ป่วย ผู้สังเกตอาการ หรือโรงพยาบาลสนาม และร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เรื่องของการคืนค่าประกันมิเตอร์ให้กับประชาชน 

ส่วนเรื่องของราคาน้ำมัน แม้ราคาต่ำ แต่กระทรวงพลังงาน ลดเพิ่มลงไปอีก 50 สตางค์ ทุกชนิด

ก๊าซ NGV สำหรับขนส่งจะตรึงราคาสำหรับรถทั่วไป 15.18 บาท ส่วนรถขนส่งสาธารณะ จะมีการลดลง 13.62 เหลือ 10.62 ถึงสิ้นเดือนมิ.ย.

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาวะวิกฤตการแพร่ระบาด COVID- 19 ส่งผลกระทบกับเกษตรกรด้วยเช่นกัน ทั้งปัญหาเรื่องการส่งออก โดยจะมีมาตรการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ย ส่วนการสร้างรายได้จะให้ประชาชนที่ตกงานมีหน่วยงานเข้ามาช่วยงานในการดูแล

สินค้าไม้ผลต่างๆ ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยกระทรวงเกษตรฯ มีมาตรการเชื่อมโยงตลาดร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีการออกมาตรการเยียวยาโดยจะอยู่ในมาตรการระยะที่ 3

ส่วนนายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า พม.ได้จัดโครงการกับโรงรับจำนำของรัฐ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยขยายอายุตั๋วรับจำนำตั้งแต่เดือนม.ค.2563 จากเดิม 4 เดือน 30 วัน เป็น 4 เดือน 120 วัน พร้อมลดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ใหม่ของโรงรับจำนำ คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.125 เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย.2563

การเคหะแห่งชาติมีมาตรการพักชำระค่าเช่าซื้อ 3 เดือน และยกเว้นค่าเช่า 3 เดือนให้กับลูกค้าอาคารเช่ารายย่อย ลูกค้าที่เช่าแผงตลาด และร้านค้ารายย่อย พร้อมลดค่าเช่า 50 % เป็นเวลา 3 เดือน

สำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้พิการ มีมาตรการจ่ายเงินให้เฉพาะคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ โดยจัดสรรเพิ่มให้คนละ 1,000 บาท จากเดิม 800 บาท และใน

กองทุนคนพิการ ก็มีเงินสำรองในกองทุน นำมาจ่ายเป็นเงินพิเศษให้กับคนพิการอีกคนละ 1,000 บาท

ขณะเดียวกัน กระทรวงยังมีมาตรการการช่วยเหลือด้านสถานที่ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย ในมีกลุ่มของผู้เดือดร้อนอย่างคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน คนตกงานจนไม่มีที่อยู่อาศัย ในช่วง COVID-19 ระบาด รวมถึงเด็กและผู้สูงอายุที่คนดูแลติดเชื้อ COVID-19 โดยกระทรวงมีสถานที่ให้พักอยู่อาศัยชั่วคราว

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ลดน้อยลง เมื่อเทียบกับจำนวนการประเมินที่ผ่านมา และมีผู้ป่วยกลับบ้านมากกว่า โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันกลับมาจากต่างประเทศ ไปในที่ชุมชน

ส่วนการบริหารจัดการเตียงพบว่า จำนวนเตียงภายในกรุงเทพฯ ใช้เพียง 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ป่วยหนักจะพบว่าจากจำนวนสูงสุดเกือบร้อยเตียง ตอนนี้เหลือเพียง 50 เตียง และที่สำคัญคือมีเตียงพร้อมที่จะดูแล 132 เตียง สำหรับเครื่องช่วยหายใจขณะนี้มีอยู่ประมาณ 2,000 เครื่อง มีผู้ป่วยอยู่เพียง 20 คน ซึ่งสามารถรองรับได้เพิ่มอีก ด้านการตรวจ Lab ทั้งหมดมีการตรวจมากกว่า 80,000 Lab

นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ได้เพิ่มมาตรการ ลดค่าไฟฟ้า 3 % ทั้งการไฟฟ้านครหลวง และภูมิภาค เป็นระยะเวลา 3 เดือนในรอบบิลเดือนเม.ย. ถึงมิ.ย. พร้อมขยายระยะเวลาชำระค่าไฟ 6 เดือนของแต่ละรอบบิล ในผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทโรงแรมและกิจการให้เช่าอาศัยเป็นเวลา 2 เดือน รอบบิลเดือนเม.ย.ถึงพ.ค. พร้อมคืนเงินหลักประกันการใช้ไฟฟ้า ทั้งในส่วนของผู้ใช้บ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก รวมเป็นเงินคืนให้กับประชาชน ร่วม 4 หมื่นกว่าล้านบาท

ส่วนการประปา ทั้งนครหลวงและภูมิภาค ได้ลดค่าน้ำ 3 % ให้ผู้ใช้น้ำทุกประเภท สำหรับใบแจ้งค่าน้ำเดือนพ.ค.ถึงก.ค. พร้อมขยายการชำระน้ำประปาสำหรับใบแจ้งค่าน้ำเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน และสามารถผ่อนชำระได้ไม่เกิน 6 เดือน โดยไม่มีดอกเบี้ยสำหรับธุรกิจโรงแรมและกิจการให้เช่าพักอาศัย

คืนเงินประกันการใช้น้ำให้กับผู้ใช้น้ำประเภทที่พักอาศัยตั้งแต่เดือนพ.ค. รวมเป็นเงินคืนให้กับประชาชนประมาณ 3 พันล้านบาท รวมมาตรการช่วยเหลือประชาชนทั้งค่าไฟค่าน้ำ มีงบประมาณคืนประชาผลประมาณ 45,000 ล้านบาท

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง