นางติ๋ม ศิริชู แม่ค้าขายพวงมาลัย ในชุมชนริมทางรถไฟ ย่านบางซื่อ กล่าวว่า มีรายได้ทางเดียวจากอาชีพร้อยพวงมาลัยขายที่ตลาดนัดสวนจตุจักร และช่วงตลาดต้องปิดตัวจากผลกระทบ COVID-19 ทำให้รายได้ขาดหายไปทันที
เธอเล่าให้ฟังว่า เงินเก็บที่เหลือเพียงเล็กน้อยกำลังจะหมดไป แม้ญาติพี่น้องจากต่างจังหวัด จะช่วยเงินมาบ้าง แต่ก็ไม่เพียงพอ และเธอยอมรับว่า หากไม่สามารถขายของได้อีกเดือน คงเดือดร้อนมากกว่านี้แน่
การส่งต่อสิ่งของบริจาคจำเป็น ให้ถึงมือชาวบ้านโดยตรง แทนที่จะให้คนเหล่านี้ ไปรวมตัวจำนวนมาก เสี่ยงต่อการกระจายตัวของเชื้อไวรัส เป็นแนวคิดตำรวจรถไฟ เลือกใช้ หลังเคยเกิดเหตุวุ่นวายในการต่อแถวรับของบริจาค บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง
ด้วยพื้นที่รับผิดชอบมากถึง 44 สถานีทั่วประเทศ ทำให้ตำรวจรถไฟ มีข้อมูลชาวบ้านในชุมชนแออัดอีก มากมายในเขตพื้นที่รับผิดชอบที่ยังต้องการความช่วยเหลือ เพราะส่วนใหญ่ชาวบ้านเหล่านี้ มีรายได้น้อยและยังต้องเจอผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัวจากโรคระบาดให้บางครอบครัว ไม่สามารถหารายได้มากพอเลี้ยงครอบครัว
ทั้งนี้ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากทั้งในกรุงเทพฯ และต่างหวัด ที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่สิ่งสำคัญที่ภาครัฐ พยายามจัดระเบียบการแจกจ่ายสิ่งบริจาคในจุดต่าง ๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร สามารถประสานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต่าง ๆ จุดรองรับการบริจาคจำนวน 71 จุด แต่ทั้งนี้ต้องมีการคัดกรอง เว้นระยะห่างในการต่อแถวของคนมารับบริจาค เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ