วันนี้ (27 เม.ย.2563) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กรณีการเสนอเรื่อง CPTPP (comprehensive and progressive agreement for transpacific partnership) หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก สู่การพิจารณาของ ครม. ว่า การเสนอเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2563
อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่ายังมีความเห็นแย้งกันอยู่ในระหว่างฝ่ายต่าง ๆ กระทรวงพาณิชย์จึงได้ถอนเรื่องที่เสนอออกไปแล้ว
จะไม่เสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมอีก หากที่ภาคส่วนต่าง ๆในสังคมยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่
ส่วนความเป็นห่วงเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ และการเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) น.ส.ธิดากุญ แสนอุดม นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบายว่า ไทยมีกฎหมายที่ให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่อยู่เเล้ว คือ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 ที่เปิดให้จดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตั้งเเต่ปี 2547 แต่ยอมรับว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่เข้มงวดเท่ากับ UPOV 1991 ดังนั้นหากไทยจะเข้าร่วม CPTPP ก็ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขข้อบทกฎหมาย 10 ประเด็น เช่น อายุการคุ้มครอง และข้อยกเว้นสิทธิ์การให้เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกเองได้
ปัจจุบัน CPTPP มีสมาชิก 11 ประเทศลงนามตั้งแต่ 8 มี.ค.2561 โดยมี 7 ประเทศให้สัตยาบันแล้ว ซึ่งสมาชิก CPTPP มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน และมี GDP รวมกันคิดเป็นร้อยละ 13 ของโลก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง FTA Watch รณรงค์ค้านไทยเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP