ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กทม.เตือนน้ำเจ้าพระยาเค็มห้ามใช้ทำการเกษตรตั้งแต่สะพานกรุงธนฯ ลงไป

สังคม
22 มิ.ย. 58
10:10
260
Logo Thai PBS
กทม.เตือนน้ำเจ้าพระยาเค็มห้ามใช้ทำการเกษตรตั้งแต่สะพานกรุงธนฯ ลงไป

สำนักการระบาย กทม. แจ้งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ใต้สะพานกรุงธนฯ จนถึงปากแม่น้ำ มีค่าความเค็มเกินมาตรฐาน ห้ามประชาชนใช้ทำการเกษตร เกษตรกรสวนมะม่วง-มะพร้าว ฉะเชิงเทรา โดนด้วย หลังน้ำเค็มหนุนแม่น้ำบางปะกง ด้าน กรมชลฯ วอนใช้น้ำประหยัด แนะชาวนาเลื่อนปลูกข้าว แต่กลับพบพื้นที่ทำนาปีในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มเป็น 4 ล้านไร่

วันนี้ 22 มิ.ย. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าสถานการณ์น้ำแล้งทั่วประเทศ และน้ำทะเลหนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกงว่า สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานครรายงานว่า พบค่าความเค็มเกินค่ามาตรฐานที่จะใช้ปลูกพืช ในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ใต้สะพานกรุงธนบุรีลงไปจนถึงปากแม่น้ำ จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะที่ฝั่งธนบุรี เขตบางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ จอมทอง และทุ่งครุ งดใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาใช้ทำการเกษตร ขณะที่ ชาวสวนมะม่วงและมะพร้าว จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุน ทำให้แม่น้ำบางปะกงมีค่าความเค็มเกินมาตรฐาน ไม่สามารถนำน้ำมาใช้การเกษตร ได้นานกว่า 5 เดือนแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มว่า ส่วนชาวนาใน ต.กระเสียว อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี ยังคงเฝ้าระวังเครื่องสูบน้ำตลอดคืนที่ผ่านมา (21 มิ.ย. 2558) เพราะกลัวจะถูกเครื่องยนต์ หลังสำนักชลประทานที่ 12 จัดคิวให้ชาวนาสูบน้ำจากคลองมอมะขามเฒ่า-อู่ทอง เพื่อแก้ปัญหาแย่งใช้น้ำในพื้นที่ ทั้งนี้ กลุ่มชาวนาบริเวณท้ายน้ำยังกังวลว่าอาจไม่มีน้ำเหลือให้ทำนา เนื่องจากมีการระดมสูบน้ำกันมาก ไม่มีน้ำเหลือพอให้ทำนา เนื่องจากมีการระดมเครื่องสูบน้ำกันมาก เช่นเดียว กับชาวนา อ.บางบาล และ อ.เสนา จ.อยุธยา ที่กังวลว่าปริมาณน้ำที่กรมชลประทาน ส่งมาช่วยเหลือชาวนาชั่วคราวจะส่งมาไม่ถึงปลายคลอง

ขณะที่ นายอภิชาติ โตดิลกเวชต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขอความร่วมมือชาวนา แบ่งปันน้ำภาคการเกษตร เพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง

ด้าน นายทรงพล พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า เตรียมยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยความเสียหาย และพักชำระหนี้ 3 ปี หรือยกหนี้ให้ชาวนา

ส่วน ชาวนา จ.นครราชสีมา ระบุว่า ปีนี้ปลูกข้าวช้ากว่ากำหนดถึง 2 เดือน เพราะไม่มีน้ำ และหลายครัวเรือนหันมาใช้วิธีหว่านข้าวแทนการปักดำ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า แม้ชลประทาน จ.นครสวรรค์ และ จ.อุทัยธานี และในจังหวัดอื่น ๆ ขอความร่วมมือชาวนาให้ชะลอการเพาะปลูกหลังน้ำในเขื่อนหลายแห่งเหลือน้อย แต่กลับพบว่า พื้นที่ปลูกข้าวนาปีในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป้น 4,000,000 ไร่ โดยเป็นเขตภาคเหนือลุ่มเจ้าพระยาตอนบนประมาณ 300,000 ไร่
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง