วันนี้ (22 พ.ค.2563) เป็นเวลา 6 ปี ที่มีการยึดอำนาจและนำไปสู่การเปลี่ยนโฉมการเมืองไทยไปสิ้นเชิง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก้าวจากผู้บัญชาการทหารบกขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อเนื่องมาถึงหลังเลือกตั้ง ท่ามกลางข้อครหาสืบทอดอำนาจ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เข้าสู่การเป็นนักการเมืองเต็มตัว และทำให้กองทัพเข้ามามีบทบาทแทบทุกมิติ
หากเป็นแบบนี้ผมขอยึดอำนาจ
เป็นวรรคทองการเมืองไทยที่ถูกพูดถึงมาตลอด และนับจุดเปลี่ยนสำคัญของสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศกลางวงเจรจา 7 ฝ่าย ที่ตกลงกันไม่ได้ จึงกลายเป็นการแก้วิกฤตการเมือง ในช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ผู้บัญชาการเหล่าทัพ แถลงประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ฉบับที่ 1 เรื่องควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ วินาทีนั้น คือการรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
จากนั้น คสช.ประกาศโรดแม็ป 3 ระยะสู่การเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่ควบคุมทุกกลุ่มก้อนการเมืองให้หยุดนิ่ง ผ่านกลไกศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ควบหัวหน้า คสช.
ภายใต้ข้อสังเกตยืดอายุ เพื่ออยู่ในอำนาจให้นานที่สุด ล้มร่าง-ร่างใหม่ กว่าจะสำเร็จใช้เวลากว่า 3 ปี เลือกตั้งครั้งแรก 24 มี.ค.2562 ยังถูกครหาสืบทอดอำนาจ เขียนกฎหมายเอื้อให้กลับเข้าสู่ตำแหน่ง โดยเฉพาะที่มาของวุฒิสภา วางหลักเกณฑ์เลือกตั้ง เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้น
ปิดฉากภารกิจ หัวหน้า คสช. 5 ปี แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เปิดฉากเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ แม้จะไม่พร้อมลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ "ป๊อบปูล่าโหวต" คือความชอบธรรมของพรรคอันดับ 2 ในการเลือกตั้ง เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลผสม 20 พรรค
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 และนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ของประเทศย้ำมาตลอดว่า ไม่ได้ต้องการอำนาจและผลประโยชน์ แต่ต้องการให้ทุกกลุ่ม-ทุกฝ่ายใช้กลไกประชาธิปไตยสร้างประเทศ ไม่สร้างเงื่อนไข-ขัดแย้งรอบใหม่
และแม้เข้าสู่ คสช.ในรอบ 6 ปี และครบการเป็นรัฐบาลเลือกตั้งในรอบ 1 ปี ทุกวันนี้ก็ยังเผชิญกับแรงเสียดทานและข้อครหาสืบทอดอำนาจ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
นักศึกษาชูป้ายครบ 6 ปี รัฐประหาร หน้าทำเนียบฯ-บก.ทบ.