"พาราควอต" ยาฆ่าหญ้า และ "คลอร์ไพริฟอส" สารกำจัดแมลง สารเคมี 2 ชนิดนี้ กลายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ไปแล้ว หมายถึง ห้ามใช้ ห้ามครอบครอง ห้ามนำเข้า ห้ามขาย เรียกว่าปิดทางไม่ให้มีสารเคมีทั้ง 2 ในประเทศไทยอีกต่อไป ระหว่างนี้ต้องจัดการกับสารเคมีคงค้าง ที่ยังเหลือในมือเกษตรกร ร้านเคมีเกษตร โรงงานผู้ผลิต ถ้าเหลือต้องนำไปทำลายให้หมดไปภายใน 9 เดือน แต่เงื่อนไขสำหรับเกษตรกรเอง ถ้ามีในครอบครองภายใน 3 เดือนนี้ ต้องส่งคืนให้ร้านค้าที่ซื้อมา
ทีมข่าวไทยพีบีเอสไปสำรวจบางพื้นที่ยังพบเกษตรกรที่ใช้พาราควอตทำลายหญ้าในไร่แล้วสารที่ตุนไว้หากหมดไปทางเลือกสำรองที่พอจะทำได้ คือ ผสมสูตรยาฆ่าหญ้าแบบดั้งเดิมเองใช้เกลือ ปุ๋ยยูเรีย น้ำยาล้างจาน ตามที่เคยใช้เมื่อหลายสิบปีก่อน
เกษตรกรปรับตัวหลังแบนพาราควอต
เพราะยังมีพาราควอตไว้ในครอบครอบเกือบครึ่งแกลลอนทำให้ นายบุญมี คำประชุม เกษตรกรชาว อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ยังคงใช้สารเคมีตัวนี้ฉีดพ่นวัชพืชในแปลงอ้อย สัดส่วนการใช้พาราควอต 80 ซีซี ต่อน้ำ 16 ลิตร ฉีดได้ 1 งาน ซึ่งการฉีดพ่นจะต้องเร่งทำในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงที่วัชพืชยังไม่โต ส่วนไร่มันสำปะหลังและข้าวไร่บุญมีจะใช้วิธีดายหญ้าเพื่อลดการใช้สารเคมีให้มากที่สุด
หากพาราควอตถังนี้หมดบุญมีก็เตรียมกลับไปผลิตสารกำจัดวัชพืชเอง ด้วยการใช้ปุ๋ยยูเรียและเกลืออย่างละ 1 กิโลกรัม ผสมในน้ำ 10 ลิตร ตามด้วยสารจับใบหากไม่มีก็ใช้น้ำยาล้างจานหรือน้ำยาล้างรถแทน ซึ่งสูตรนี้เขาเคยมาใช้มาก่อนมีพาราควอต
ภายหลังการแบนสารเคมีทั้ง 2 ชนิด ทีมสารวัตรเกษตรมหาสารคาม เข้าตรวจสอบร้านที่แจ้งจำหน่ายวัตถุอันตรายไม่พบทั้งสต็อกสินค้าหรือการส่งคืนมีเพียงไกลโฟเซตที่ยังวางจำหน่าย ซึ่งเกษตรกรหรือผู้รับจ้างฉีดจะต้องผ่านการฝึกอบรมจึงจะซื้อได้
ทั้งนี้ จ.มหาสารคาม มีร้านจำหน่ายวัตถุอันตราย 295 ร้าน จำนวนนี้ยื่นความจำนงจำหน่ายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโพเซต 142 ร้าน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกตรวจสอบของสารวัตรเกษตร หลังพบว่าแต่ละปีมีการใช้สารเคมีประเภทพาควอต และไกลโฟเซต ประมาณ 50,000 ลิตร ในพื้นที่การเกษตรกว่า 280,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นไร่อ้อยและมันสำปะหลัง
วังวนสารเคมีเกษตร
การห้ามใช้สารเคมี 2 ชนิด มีผลบังคับในช่วงเวลาที่พืชเศรษฐกิจหลายชนิดกำลังเริ่มเข้าสู่การเพาะปลูกรอบใหม่ ในรายงานพิเศษจะเห็นว่ามีทั้งมันสำปะหลังและอ้อย เช่นเดียวกับข้าวโพด และข้าวที่การเตรียมพื้นที่จะใช้สารเคมีประเภทยาฆ่าหญ้า ทำให้ระยะแรกของการบังคับใช้กฎหมายนี้ยังไม่เห็นผลร้อยเปอร์เซ็นต์
ก่อนหน้านี้ มีข้อถกเถียงมาโดยตลอดว่าเมื่อห้ามใช้สารเคมีที่ใช้มานานอย่างพาราควอตแล้วจะเอาอะไรมาฆ่าหญ้า ทางเลือกหนึ่งคือจ้างแรงงานหรือเครื่องจักร แต่ต้องใช้ทุนค่าแรงสูงลงทุนซื้ออุปกรณ์ ถ้าทำแล้วหญ้าขึ้นอีกจะถอนซ้ำจะอย่างไรจะหาสารธรรมชาติที่เรียกว่าชีวภัณฑ์ยังไม่มีข้อกำหนดเรื่องพิษโทษต่อร่างกายยังไม่มีชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชตัวไหนที่ขึ้นทะเบียนได้อย่างถูกกฎหมาย ทางเลือกด่วนคือการหันไปหาสารเคมีอื่นมาทดแทน ที่ชื่อว่ากลูโฟซิเนต แต่มีข้ออ้างว่าราคาแพงกว่า 7-8 เท่า จนซื้อไม่ไหว
พอฝ่ายรัฐเอาจริงที่จะแบนโดยรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ สั่งห้ามนำเข้าพาราควอต เพื่อจำกัดการใช้และหาทางแบนทำให้ปริมาณการนำเข้าพาราควอตลดลงอย่างชัดเจนและระยะหลังราคาขายตามท้องตลาดทั่วไป ปรับจากลิตรละ 50 บาท เป็น 80 หรือ 100 บาท สวนทางกับสารเคมีที่มาใช้แทนอย่าง กลูโฟซิเนต แอมโมเนียม ที่ 2 ปีหลังเทียบกับปี 2560 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาปี 2561 มากกว่า 6 เท่า และปี 2562 มากกว่า 2 เท่า นำเข้ามากขึ้น ราคาตามท้องตลาดที่เคยแพงกว่าพาราควอต 7-8 เท่า ปรับลงมาเหลือประมาณ 300 บาทต่อลิตร
ถามว่ากลูโฟซิเนตมาแทนที่พาราควอตได้ทั้งหมดจริงหรือไม่ เกษตรกรรู้ดีว่าฤทธิ์ของกลูโฟซิเนตให้ผลดีไม่เท่าสารเคมีอีก 2 ชนิดที่อยู่ในกล่มยาฆ่าหญ้า กลูโฟซิเนตให้ผลแบบกึ่งๆ คือทั้งเผาไหม้ใบและดูดซึม วัชพืชจะตายใช้เวลาประมาณ 10 วันซึ่งนานกว่าพาราควอตอยู่มาก แหล่งกำเนิดสารเคมีในกลุ่มยาฆ่าหญ้าทั้งหมด แม้การคิดค้นช่วงแรกมาจากฝั่งยุโรป แต่ปัจจุบันผลิตในจีนเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะใช้สารเคมีชนิดไหน กลุ่มธุรกิจที่นำเข้าและผลิตในไทยก็จะวนอยู่ใน 2-3 กลุ่มธุรกิจเท่านั้น
แม้จะแบนสารเคมีเกษตรตัวหนึ่งแล้วไม่มีทางเลือกอื่น เกษตรกรหันไปใช้สารเคมีอีกชนิดหนึ่ง ผลประโยชน์ในกลุ่มธุรกิจเคมีเกษตรอาจเปลี่ยนมือบ้าง หรือปรับไปซื้อไลเซนส์ของสารชนิดใหม่แทนวังวนสารเคมีเกษตรจึงไม่หมดไป