ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

The Exit : ตรวจสอบทุจริตซื้ออุปกรณ์ป้องกัน COVID-19

อาชญากรรม
12 มิ.ย. 63
19:11
780
Logo Thai PBS
The Exit : ตรวจสอบทุจริตซื้ออุปกรณ์ป้องกัน COVID-19
การจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ของ อปท.หลายแห่ง อาจเข้าข่ายนิติกรรมอำพราง มีกรณีบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับ อปท.แห่งหนึ่งใน จ.สุรินทร์ ให้ญาติไปจดทะเบียนการค้าแล้วนำเอกสารไปทำสัญญาจัดซื้อเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิในราคาแพงกว่าตลาด 2-4 เท่า

วันนี้ (12 มิ.ย.2563) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสเดินทางไปที่บ้านเลขที่ 88/2 หมู่ 2 ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ หลังจากได้รับข้อมูลว่าบ้านหลังนี้ถูกจดทะเบียนเป็นร้านเทวาพาณิชย์ และชื่อร้านค้าไปตรงกับเอกสารใบสั่งซื้อว่าเป็นร้านที่ขายเครื่องเทอร์โมสแกนให้กับ อบต.ตรวจ อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ ในราคาเครื่องละ 8,500 บาท ซึ่ง ป.ป.ท.เขต 3 อยู่ระหว่างตรวจสอบ เนื่องจากเป็นการจัดซื้อในราคาแพงกว่าท้องตลาด ขณะที่นางบุญเที่ยง ภูแสงสั่น เจ้าของบ้าน ระบุว่า เพิ่งรู้ว่าลูกชายนำบ้านไปจดทะเบียนเป็นร้านค้า

 

ยืนยันลูกชายมีอาชีพขายกล้วยทอด

นางบุญเที่ยง ยืนยันว่าลูกชาย คือนายเทวาพิทักษ์ พิชิตชัยนาวี ตามเอกสารคือผู้ขายเทอร์โมสแกน เขาทำอาชีพขายกล้วยทอดที่ จ.สกลนคร ไม่ใช่ผู้ที่ทำสัญญาซื้อขายกับ อบต.ตรวจ แต่มีญาติอีกคนที่เป็นตัวแทนจำหน่าย หรือเซลส์ที่ทำสัญญาแทน

 


ไทยพีบีเอสโทรสอบถามนายเทวาพิทักษ์ ซึ่งยืนยันว่าญาติ ซึ่งเป็นเซลส์ให้ตนเองจดทะเบียนร้านค้า เพื่อนำชื่อไปทำสัญญาซื้อขายกับ อปท.แล้วหลายครั้ง

ใช้ร้านค้าญาติส่อเค้านิติกรรมอำพราง

เครื่องเทอร์โมสแกนของ อบต.ตรวจ ที่จัดซื้อในราคาเครื่องละ 8,500 บาท ทาง อบต.อ้างว่านำเข้าจากประเทศเยอรมนี ขณะที่ข้างกล่องระบุว่าผู้นำเข้าเป็นบริษัทในประเทศตุรกี และผลิตที่ประเทศจีน เมื่อตรวจสอบราคาที่ขายในเว็บไซต์ อยู่ที่ประมาณ 2,000 - 4,000 บาท แต่สิ่งที่ผิดปกติมากกว่าราคาที่สูงเกินจริง คือกระบวนการจัดซื้อที่เซลส์ใช้เอกสารร้านค้าที่ให้ญาติจดทะเบียนไปทำสัญญาซื้อขายแทน ซึ่งเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เขต 3 ต้องตรวจสอบว่าเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่

 

ปรับราคาเพิ่ม นำส่วนต่างไปจ่ายส่วย

ไทยพีบีเอส พูดคุยกับอดีตเซลส์ขายสินค้าด้านเวชภัณฑ์คนหนึ่ง ยืนยันว่าการขายสินค้าป้องกันเชื้อโควิด-19 ให้ อปท.หลายแห่งในภาคอีสาน ต้องปรับราคาให้สูงขึ้น เพื่อหักกำไรส่วนหนึ่งไปจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ซึ่งจะตกลงซื้อขายกับเซลส์ที่เสนอเงินตอบแทนให้

 



ราคาสินค้าที่สูงกว่าท้องตลาดหลายเท่า เป็นข้อพิรุธสำคัญที่เจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบว่ามีการทุจริตหรือไม่ เพราะการจัดซื้อของ อปท.หลายแห่งใช้เงินสะสม หรือเงินที่เหลือจ่ายจากเงินรับจริงตามงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ อปท.จำนวน 7,852 แห่ง ทั่วประเทศ มีเงินสะสมรวมกันกว่า 6 แสนล้านบาท เงินก้อนนี้ส่วนหนึ่งถูกทยอยนำออกมาใช้เพื่อการป้องกันโควิด-19

พบ อปท.บางแห่งใช้งบกว่า 100 ล้าน

ไทยพีบีเอสได้รับข้อมูลว่ามี อปท.ขนาดใหญ่บางแห่งใช้งบจัดซื้อพัสดุแล้วเกือบ 100 ล้านบาท ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน และกว่า 2 เดือนแล้วที่ ป.ป.ท.และ ป.ป.ช.ร่วมกับเครือข่ายต้านทุจริต เข้าตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ เพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 ของหน่วยงานรัฐ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ยืนยันว่ามีพยานหลักฐานพร้อมดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ

 

พบอุปสรรคตรวจสอบข้อมูลจัดซื้อพัสดุ

ขณะที่อุปสรรคของการตรวจสอบโดยเครือข่ายภาคประชาชน คือ อปท.หลายแห่งยังไม่เผยแพร่ข้อมูลจัดซื้อพัสดุในเว็บไซต์ เพราะอ้างถึงคำสั่งกรมบัญชีกลางที่ระบุว่าให้หน่วยงานรัฐประกาศเผยแพร่การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับถัดจากวันที่มีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงเป็นที่น่าจับตาว่า หลังจากนี้ หากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะมีข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุป้องกันเชื้อโควิด-19 ของทุก อปท.เผยแพร่ออกมา ซึ่งการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชน จะนำไปสู่การตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างที่อาจไม่โปร่งใส อย่างเป็นวงกว้างอีกครั้ง

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง