วันนี้ (22 ก.ค.2563) สำนักข่าว Hfocus ร่วมกับศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) จัดเวที “ Visual Policy Forum : เตรียมพร้อมอย่างไรกับการระบาดรอบที่ 2 ของ Covid-19” โดยมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร อดีต รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษ “ผลกระทบของ Covid-19 เมื่อสุขภาพกำหนดวาระทางสังคม” ว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกประกาศให้ COVID-19 เป็นการระบาดใหญ่ของโลก ซึ่งปัจจุบันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ จำนวนผู้ป่วยโรค COVID-19 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนปัจจุบัน 7 เดือนเต็มๆ โดยสหรัฐฯ มีตัวเลขผู้ป่วยมากที่สุด และแต่ละวันมีคนไข้ใหม่วันละเกิน 200,000 คน จึงเป็นเหตุให้ระบาดทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม โรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ทางการแพทย์ยังไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกัน จึงส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก และภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาสิ้นสุดของการแพร่ระบาดของโรคได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีการล็อกดาวน์ และที่สำคัญคือการเว้นระยะห่าง ไม่ไปอยู่ใกล้กัน เพราะเชื้อโรคนี้ผ่านทางเสมหะ ละอองน้ำลาย ที่ผ่านมาเราทำได้ดี ต้องให้เครดิตกระทรวงสาธารณสุขในการควบคุมโรค
เรื่องนี้ไม่ใช่ฟลุก แต่เพราะเรามีระบบพื้นฐานที่ดี ทั้งการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา จนเราได้รับการชื่นชมจากทั่วโลกว่าเราควบคุมโรคได้ดี และคนทั่วโลกอยากมาเมืองไทย ยิ่งช่วงหน้าหนาวโรคระบาดมากขึ้น เขายิ่งอยากมาเมืองไทย จริงๆ เรื่องนี้เป็นทั้งวิกฤตและโอกาส แต่เรามีระบบที่ดีจึงไม่ต้องไปกลัว แต่เขาจะเอาเงินมาใช้บ้านเรา เพราะเศรษฐกิจสำคัญมาก ซึ่งตรงนี้ต้องทำสมดุลให้ดี
นพ.อุดม กล่าวอีกว่า โรคระบาดเป็นแล้วก็เป็นอีกได้ เพราะเชื้อยังมีอยู่ แต่คนไทยก็ป้องกันตัวดี โดยข้อมูลพบว่า 95% คนไทยสวมใส่หน้ากากอนามัย ต้องป้องกันและควบคุมให้ได้ ให้เกิดการระบาดน้อยที่สุด เพราะยังไม่มียารักษา เมื่อถามว่าโรคจะยุติเมื่อไหร่ มี 3 วิธี คือ 1.เมื่อมีวัคซีน ซึ่งก็รอประมาณ 1-1 ปีครึ่ง 2.มีการติดเชื้อจนมีภูมิคุ้มกันในประชากรส่วนใหญ่มากกว่า 70% ของประชากร Herd Immunity แต่ปัจจุบันมีน้อยมากไม่ถึง 10% และ 3.ไวรัสกลายพันธุ์จนยุติการระบาด ซึ่งโอกาสก็ยาก ดังนั้นเราต้องอยู่กับ COVID-19 อีกนาน 1-1 ปีครึ่งเป็นอย่างน้อย
พร้อมระบุอีกว่า การระบาด COVID-19 นั้น เริ่มจากการระบาดครั้งแรก หากไม่มีมาตรการใดๆ คนจะเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่จะสิ้นสุดเร็ว หากไม่ต้องการให้คนเสียชีวิตมากก็ต้องควบคุมให้ค่อยๆ ระบาดเป็นระลอก เพื่อให้สามารถควบคุมได้และมีเตียงไอซียูเพียงพอ แนวทางปฏิบัติที่ผ่านมาทำได้ดี แต่เป็นศูนย์ตลอดไม่ได้ แบบนั้นไม่เรียกว่าการระบาด เพราะรอบประเทศยังมีคนติดเชื้อมาตลอด ซึ่งประเทศไทยทำได้ดี จึงเป็นระลอกการระบาดที่ค่อยๆ มี จะบอกเป็นศูนย์ไม่ได้ ไม่ใช่ธรรมชาติของการระบาด
3 ฉากทัศน์ COVID-19 หลังปลดล็อกทุกกิจการ
นพ.อุดม กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค มีการคาดการณ์สถานการณ์ในช่วงเดือน ก.ค.2563 เมื่อเปิดกิจการทุกอย่าง แบ่งออกเป็น 3 ฉากทัศน์ ซึ่งต้องมีคนติดเชื้อ ประกอบด้วย ฉากทัศน์ที่ 1 สถานการณ์ควบคุมได้เต็มที่ หลังปลดล็อกทุกภาคธุรกิจ รวมทั้งการเดินทางภายในและระหว่างประเทศ พบผู้ป่วยประปราย 15-30 คนต่อวัน โดยเน้นการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย, พบผู้ป่วยรายใหม่จากการค้นหาเพิ่มเติม และค้นหาเชิงรุกในชุมชน
ฉากทัศน์ที่ 2 สถานการณ์ควบคุมได้ดี มีความเสี่ยงต่ำ การระบาดอยู่ในวงจำกัด ระบบสาธารณสุขรองรับได้ หลังปลดล็อกทุกภาคธุรกิจ รวมทั้งการเดินทางภายในและระหว่างประเทศพบผู้ป่วย 50-150 คนต่อวัน โดยเน้นการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ทั้งกลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย และคนเดินทางเข้าประเทศ
ฉากทัศน์ที่ 3 สถานการณ์ควบคุมได้ยาก มีการระบาดซ้ำคล้ายช่วงเหตุการณ์ระบาดจากสนามมวย สถานบันเทิง (มีการเคลื่อนย้ายประชากรจำนวนมาก ทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยไม่มีการกักกันติดตาม อาจพบผู้ป่วย 500-2,000 คนต่อวัน ระบบสาธารณสุขอาจไม่เพียงพอในการรองรับผู้ป่วย
หากประเมินสถานการณ์ต่างๆ มีการประเมินจำนวนการรับผู้ป่วยต้องไม่เกิน 150 คน แบบนี้จะพอไปได้ เศรษฐกิจยังไปได้ อย่างไรก็ตามเป้าหมายของการควบคุมการระบาด ไม่ใช่การยืนยันผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันเป็นศูนย์ไปตลอด เพราะจะไม่ใช่การระบาด แต่จะค่อยๆ เป็นอย่างวันละ 15 คน แต่หากมากขึ้นก็ได้สูงสุด 150 คน เรายังรับได้อยู่ แต่การควบคุมโรคต้องเข้มข้น ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวอย่างหนึ่งคือการเดินทางมาทางบก เมื่อเชื้อกระจายจะเป็นยกกำลัง ไม่ใช่แค่คูณ 2 เท่านั้น
นพ.อุดม กล่าวอีกว่า การขอเข้าประเทศเฉพาะเมียนมา 60,000 คน ลงทะเบียนเข้าประเทศ และอีก 40,000 คนกำลังขอวีซ่า กลุ่มนี้เข้ามาทางด่าน และยังมีใต้ดินอีกเป็นแสนคน จะทำอย่างไรก็ต้องระวังเต็มที่ จะเห็นได้ว่าไม่มีทางเป็นศูนย์คน แต่ต้องมีมาตรการและตะครุบให้เร็วที่สุด เพราะมีตัวอย่างจากต่างประเทศ อย่างกรณีญี่ปุ่น แม้มีมาตรฐานสูง แต่เมื่อปลดล็อกก็เข้าสู่ระบาดรอบ 2 ได้ นอกจากนี้ยังมีเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ซึ่งเราเห็นหมดแล้วรอบบ้านเรา ดังนั้นจึงต้องระวัง
ผลักดัน Smart Hospital ลดการไป รพ.
นอกจากนี้จะมีเรื่อง Newnormal Healthcare เป็นการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ชะลอวัย ผู้ป่วยจะลดการมาโรงพยาบาล เวชระเบียนก็จะลดลง ใช้ผ่านมือถือเป็นหลัก โดยจะเป็นรูปแบบโรงพยาบาลเสมือนจริงไปอยู่บ้าน เน้นในเรื่องไม่ต้องมาโรงพยาบาล ทุกอย่างจะเป็น Smart Hospital มากขึ้น โดยยุคนี้จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นหลัง COVID-19
ในยุคผมต้องทำให้ได้ ผมเป็นคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุขจะผลักดันเรื่องนี้ เราต้องลดการแอดมิทอยู่ใน รพ. ยกเว้นคนไข้หนักจริงๆ และการดูแลผู้สูงอายุทั้งก่อนป่วยและไม่ป่วย จะต้องมีระบบดูแล เมื่อป่วยก็รักษา เน้นใช้สมุนไพร และในวาระสุดท้ายก็ต้องมีระบบดูแลอย่างดีให้เกิดขึ้น
นพ.อุดม กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องการศึกษาต้องมีการปรับเปลี่ยน ออนไลน์จะไม่ใช่มาแทนทุกอย่าง แต่จะเป็นส่วนใหญ่อย่างน้อย 50% โดยจะเน้น 3 หลักการ คือ 1.นักเรียน-นักศึกษาต้องมีความปลอดภัย ไม่ใช่มาเรียนแล้วติดโรค ต้องมีระบบเว้นระยะห่างที่ดี 2.ต้องไม่แออัด และ 3.เสมอภาค ให้ไปเรียนออนไลน์ แต่ไม่ได้มีทุกคน ยิ่งต่างจังหวัดชายขอบก็ไม่มี จะทำอย่างไรให้ทุกคนได้เรียนรู้
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการเสวนา 2 ช่วง โดยช่วงแรกภาคเช้า เป็นการเสวนาเรื่อง “แนวโน้ม ผลกระทบ และการเตรียมรับมือการระบาดรอบที่สองของ Covid-19 โดยมี ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค และ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์
ส่วนในช่วงบ่ายมีการเสวนา “วัคซีน - ยา : ความหวัง - โอกาส – วิกฤต” โดย นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม, รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม, นพ.ทวิราป ตันติวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMa) และนายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย