วันนี้ (9 ต.ค.2563) ทวิตเตอร์ (Twitter) ได้เผยแพร่ผลการตรวจจับบัญชีผู้ใช้ที่เห็นเด่นชัดว่าเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการด้านข่าวสาร หรือ ไอโอ (information operations) ประกอบด้วยหน่วยปฏิการข่าวอิสระที่เชื่อว่าเป็นของ อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย คิวบา ไทย และรัสเซีย
ทั้งนี้ ทวิตเตอร์ได้ดำเนินการระงับบัญชีไอโอ 1,594 บัญชีอย่างถาวร จากทั้ง 5 ประเทศ เนื่องจากเป็นการฝ่าฝืนนโยบายการใช้งานของแพลตฟอร์ม พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลนี้กับหน่วยสังเกตการณ์อินเทอร์เน็ตสแตนฟอร์ด (SIO) เพื่อการสืบสวนและวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป
สำหรับประเทศไทยทวิตเตอร์มีการตรวจสอบพบเครือข่ายที่ร่วมปฏิบัติการไอโอและได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สามารถเชื่องโยมกับกองทัพบกไทย โดยบัญชีเหล่านี้มีส่วนร่วมในการกระจายเนื้อหาสนับสนุนกองทัพและรัฐบาล รวมถึงสอดส่องพฤติกรรมของฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองที่มีชื่อเสียง
ทวิตเตอร์เปิดเผย 926 บัญชีในวันนี้ และยังคงบังคับใช้มาตรการนี้กับกิจกรรมเล็กๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายนี้ต่อไป หากตรวจสอบพบเพิ่มเติม
เป้าหมายของการเปิดเผยข้อมูลในครั้งนี้ คือ การสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะเกี่ยวกับการที่ผู้มีอำนาจในแต่ละรัฐพยายามที่จะละเมิดและทำลายการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ และเพื่อสานต่อภารกิจนี้ ทวิตเตอร์ได้จัดการประชุมออนไลน์ซึ่งเชิญเหล่าผู้เชี่ยวชาญในแขนงนี้มาอภิปรายเกี่ยวกับความร่วมมือและแนวทางในการวิจัยเกี่ยวกับวิกฤตการณ์นี้อย่างเจาะลึกมากขึ้น พร้อมผลักดันเรื่องนี้ในปี 2021
ทวิตเตอร์ประกาศความรับผิดชอบในการปกป้องการสนทนาสาธารณะและยับยั้งอำนาจของรัฐต่อผู้ใช้งาน โดยจะอัพเดตฐานข้อมูลของเราต่อไป เพื่อให้สาธารณะ ผู้สื่อข่าว และเหล่านักวิจัยสามารถเข้าถึงและวิเคราะห์เครือข่ายเหล่านี้ได้
สำหรับปฏิบัติการด้านข่าวสาร หรือ ไอโอ ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง หลังนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล (พรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น) ลุกขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า "มีการสร้างแอคเคาต์โดยนำรูปการ์ตูนหรือรูปคนอื่นมาเป็นบัญชีปลอม IO คุกคามประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ขุดประวัติคนเหล่านั้นมาให้คนรุมด่า เหมือนการล่าแม่มด"
นอกจากนี้ นายวิโรจน์ ยังระบุข้อสังเกตของ IO ว่ามีรูปแบบการโจมตี เนื้อหา การกดไลก์ ปฏิบัติการทุกอย่างวนเป็นรูปแบบเดียวกันทุกวัน โดยพบเอกสารบันทึกข้อความเป็นหนังสือสรุปการเข้าอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมกับคณะทำงานปฏิบัติการข่าวสาร เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2562 พร้อมสนับสนุนค่าโทรศัพท์และค่าอินเทอร์เน็ตในการสร้างแอคเคาต์ปลอมเพื่อตอบโต้ตามข้อกำหนดที่ได้รับมอบหมาย
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีก็ได้ตอบในประเด็นดังกล่าวเมื่อเดือน ก.พ.เช่นกัน โดยระบุว่า ไม่ทราบเรื่องที่เกิดขึ้น และยืนยันว่าไม่เคยมีนโยบายในเรื่องนี้ พร้อมมองว่าสื่อสังคมออนไลน์มีการกระทำในลักษณะนี้จำนวนมาก ส่วนตัวก็ถูกกระทำในลักษณะคล้ายคลึงกัน ซึ่งไม่ทราบว่าใครเป็นคนทำ พร้อมให้ตรวจสอบเรื่องราวดังกล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดเว็บไซต์ปริศนา "ปลุกปั่น-ทำแตกแยก" ส.ส.รัฐบาลหวั่นทำเสียหาย
ชี้ปฏิบัติการ IO ชายแดนใต้ ขยายแผลความขัดแย้ง
"นายกรัฐมนตรี" ลั่นไม่มีนโยบายปฎิบัติการ IO