ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตร.เตือน "ปิดเส้นทาง - ทำลายระบบขนส่ง" ผิดอาญาร้ายแรง

การเมือง
17 ต.ค. 63
15:10
3,463
Logo Thai PBS
ตร.เตือน "ปิดเส้นทาง - ทำลายระบบขนส่ง" ผิดอาญาร้ายแรง
ตำรวจเตือนปิดเส้นทางคมนาคมหรือทำลายระบบขนส่งเป็นความผิดกฎหมายอาญาร้ายแรง ขอให้ผู้ชุมนุมตระหนักว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายร้ายแรง ย้ำการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงไม่ใช่อาวุธร้ายแรง ปฏิบัติตามกฎหมายและหลักสากล

วันนี้ (17 ต.ค.2563) พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร. แถลงสถานการณ์ชุมนุม โดยระบุว่า การปฏิบัติการเมื่อวานนี้ ตำรวจทำไปโดยยึดหลักกฎหมายและหลักสากล มีการแจ้งเตือนด้วยการแถลงข่าว และแจ้งเตือนในพื้นที่ชุมนุม รวมถึงแสดงกำลัง และใช้กำลังเข้าควบคุมพื้นที่ตามกฎหมายตามหลักสากล ไม่มีการใช้อาวุธร้ายแรงตามที่ปรากฏในสื่อต่างๆ

พล.ต.ต.ยิ่งยศ ระบุว่า ตำรวจไม่ต้องการปฏิบัติการที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน แต่จำเป็นต้องทำตามหน้าที่ เนื่องจากเวลานี้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ฝากถึงประชาชนการเข้าร่วมชุมนุมหรือสนับสนุนเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

แจ้งเตือนการกระทำที่อาจเกิดขึ้นทั้งเส้นทางคมนาคม และการขนส่ง ย้ำการกระทำที่ปิดเส้นทางคมนาคมหรือทำลายระบบขนส่งเป็นความผิดกฎหมายอาญาร้ายแรง ขอให้ผู้ชุมนุมตระหนักว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายร้ายแรง


ตร.ชี้กระแสน้ำไม่ใช่อาวุธร้ายแรง ยันไม่มีแก๊สน้ำตา

ทั้งนี้ การดำเนินการเมื่อวานนี้เป็นการปฏิบัติการตามกฎหมาย เนื่องจากการชุมนุมฝ่าฝืนสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ทั้งที่เจ้าหน้าที่แจ้งเตือนผ่านการแถลงข่าวถึง 3 ครั้ง และแจ้งเตือนในพื้นที่ชุมนุม ยืนยันทำตามหลักสากล มีพยาน และเก็บรวบรวมหลักฐานทั้งหมด ส่วนการใช้เครื่องมือเป็นการเข้าควบคุมพื้นที่ตามหลักสากล ขณะที่ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ตำรวจสามารถใช้เครื่องมือได้ตามความหนักเบาของสถานการณ์ และเครื่องมือที่ใช้เป็นกระแสน้ำไม่ใช่อาวุธร้ายแรง ยืนยันแก๊สน้ำตายังไม่ได้ใช้

แรงดันน้ำที่ใช้เป็นแรงดันน้ำกระแสเบา และมีสารเคมีผสมเล็กน้อย แต่ยืนยันว่า ไม่อันตรายกับผู้ชุมนุม เครื่องมือชนิดนี้ ไม่ใช่เครื่องมือที่มีความรุนแรงตามหลักสากล


พล.ต.ต.ยิ่งยศ ระบุว่า สารเคมีที่ผสมน้ำ เป็นสารเคมีที่อารยประเทศใช้ในการชุมนุม ไม่ได้ผสมขึ้นเอง โดยการแถลงข่าวต่อไป จะให้นักเทคนิคมาชี้แจงว่าสารเคมีชนิดนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อผู้ชุมนุมบ้าง สำหรับการใช้น้ำผสมสารเคมีเป็นเทคนิคทางกฎหมายให้รู้ตัวผู้กระทำความผิด และระงับไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าพื้นที่ ยืนยัน มีการตัดสินใจตามขั้นตอน

เช็กเส้นทางปิดแยกอโศก - อนุสาวรีย์ชัยฯ

พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. ระบุว่า สำหรับการปิดการจราจร พบข้อมูลการข่าวว่าผู้ชุมนุมจะไปชุมนุม 2 จุดหลัก คือ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งมีโรงพยาบาลอยู่หลายโรงพยาบาล จึงพิจารณาปิดการจราไม่ให้กระทบกับประชาชนที่ต้องไปรักษาพยาบาล

การปิดจราจรเริ่มที่เส้นราชวิถี จากดินแดงจะเข้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จะปิดตั้งแต่ปากซอยราชวิถี 9 ดังนั้น ใครมาจากสามเหลี่ยมดินแดงสามารถเข้าซ้ายไปออกที่ซอยรางน้ำได้ เพื่อไปออกซ้ายราชปรารภ หรือขวาไปพญาไท สำหรับ ถ.ราชวิถี ฝั่ง รพ.พระมงกุฏ จะปิดที่ปากซอยเสนารักษ์ จากแยกตึกชัยเข้าไป รพ.พระมงกุฏได้ หรือมาจาก ถ.พญาไท เข้าซอยโยธี ออกเสนารักษ์เข้า รพ.พระมงกุฏได้

อีกสายเป็น ถ.พญาไท ปิดที่ปากซอยโยธี ดังนั้น จะเข้าซอยโยธี และเข้าด้านหลังโรงพยาบาลราชวิถีได้ โดยซอยโยธีเชื่อมซอยเสนารักษ์เข้าโรงพยาบาลพระมงกุฏได้


ฝั่งจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มุ่งหน้าแยกพญาไท ปิดที่ปากซอยรางน้ำ แต่จากซอยรางน้ำออกมาเลี้ยวซ้ายไปแยกพญาไทได้ สำหรับด้านพหลโยธิน ลงด่วนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิได้ จากสนามเป้ามาขึ้นด่วนได้ แต่ว่าลงอนุสาวรีย์ชัยฯ จะให้ย้อนสองนิดนึงไปพหลโยธินขาออก มุ่งหน้าสะพานควายได้

ส่วนด่วนพหลโยธินขาออก ลงได้ตามปกติ การปิดจราจรในครั้งนี้ควบคุมรอบวงเวียน และไม่กระทบประชาชนที่เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาล ขณะที่แยกอโศก ปิด 3 เส้นหลัก คือ ถนนสุขุมวิท ปิดปากซอยสุขุมวิท 24 เลยทองหล่อ ก่อนถึงแยกอโศก ลัดไปออก ถ.พระราม 4 ได้ ส่วนขาออกจะปิดที่แยกนานา ก่อนถึงแยกอโศก และถ.รัชาดาภิเษก จะปิดที่รัชดา-พระราม 4 ส่วน ถ.อโศกมนตรี จะปิดที่แยกอโศกเพชร โดยแยกอโศกจะปิด 4 ด้านเป็นเครื่องหมายบวก

การปิดจราจรยังไม่กำหนดเวลา โดยจะดูตามสถานการณ์ และจะพยายามประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบทุกช่องทาง เบื้องต้น แนะหลีกเลี่ยงเส้นทางหลัง 14.30 น.

ตำรวจ - ผู้ชุมนุมบาดเจ็บ รวม 8 คน 

พล.ต.ต.สามารถ ม่วงสิริ นายแพทย์ สบ.6 โรงพยาบาลตำรวจ ระบุว่า รพ.ตำรวจได้ดำเนินการดูแลประชาชนและตำรวจ ร่วมกับโรงพยาบาลเครือข่าย โดยในสถานการณ์ที่ผ่านมามีตำรวจเจ็บ 5 คน นอนในโรงพยาบาล โดยคนแรกบาดเจ็บวันที่ 14 ต.ค. ถูกผลักกระแทกกับเหล็ก ได้รับการผ่าตัดแล้ว ส่วน 4 คน บาดเจ็บเมื่อวาน คนแรกถูกก้อนหินทุบที่ไหล่ข้างซ้ายเจ็บปกช้ำไหล่ซ้าย คนที่ 2 แผงกั้นเหล็กจราจรกระแทกที่หน้าท้อง คนที่ 3 มีแผงกั้นจราจรถูกกระแทกที่ข้อเท้า และคนที่ 4 เน้นหน้าอก ได้รับการรักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาล

นอกจากนี้ มีตำรวจบาดเจ็บ 10 คน ไม่ได้ส่งตัวไปโรงพยาบาล แต่ได้ส่งรถพยาบาลไปดูแลในที่เกิดเหตุ สำหรับประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บ 3 คน พบว่า 2 คน รักษาที่ผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลหัวเฉียว คนหนึ่งหายใจเร็ว อีกคนถูกสารเคมี ส่วนอีก 1 คน รักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ หายใจเร็ว

แนวทางการทำงานของระบบการแพทย์ เมื่อมีการชุมนุม ปกติคนที่ดูแลระบบการแพทย์จะเป็นกรมการแพทย์ และศูนย์เอราวัณ ที่จะจัดทีมแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ ประจำจุด ในกรณีโรงพยาบาลตำรวจประจำที่จุดแยกราชประสงค์และเฉลิมเผ่า ส่วนแยกอื่นๆ มีโรงพยาบาลอื่นประจำอยู่

การให้บริการการแพทย์จะดูแลทั้งหมด ทั้งตำรวจและประชาชน หรือใครก็ตามที่ได้รับผลกระทบ

แจงดราม่า รถพยาบาลขอผ่านด่านจำรวจ

ด้าน พ.ต.อ.ลักษณ์ ดีรุ่งโรจน์ นายแพทย์ สบ.5 กลุ่มงานศูนย์ส่งกลับและรถพยาบาล โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวถึงกรณีภาพรถพยาบาลที่ต้องการผ่านทางที่ปรากฏในสื่อโซเชียลนั้น เป็นกรณีที่คนไข้อยู่ทางบ้าน และประจำที่โรงพยาบาลตำรวจ มีอาการไม่รู้สึกว่าไม่สบายและมีไข้ จึงได้เหมารถโรงพยาบาลเอกชนไปส่งโรงพยาบาลตำรวจ เมื่อถึงจุดที่ปิดเส้นทางตำรวจได้แจ้งคนขับให้รับทราบว่ามีการปิดเส้นทาง เมื่อผ่านเส้นทางนี้ก็อาจเจอกลุ่มคนที่ชุมนุมอยู่ คนขับจึงรับทราบและเปลี่ยนเส้นทาง โดยอาการที่มาเจ็บป่วยเล็กน้อย นำมาส่งอย่างปลอดภัย

สารเคมีที่ใช้ยังไม่ทราบว่าเป็นชนิดใดจะไปศึกษาก่อน แต่เบื้องต้น ที่ส่งข้อมูลมาระคายเคืองผิวหนังเท่านั้น ไม่อันตรายต่อเยื่อบุตา หรือไม่อันตรายถึงชีวิต

ทั้งนี้ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ระบุว่า หนึ่งในเหตุผลในการบังคับใช้กฎหมายในทุกมิติ เนื่องจากประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถเดินทางไปในเส้นทางที่ต้องการ พ่อค้าแม่ค้าได้รับผลกระทบจากการขายของ ประชาชนทั่วไปใช้ชีวิตได้โดยไม่ปกติสุข

ไม่อยากให้ใช้คำว่าสลายการชุมนุม แต่ให้ใช้คำว่ายังคับใช้กฎหมายทุกมิติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง