วันนี้ (23 พ.ย.2563) หลัง นพ.มาโนช โชคแจ่มใส ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า "ขอเสียงนักศึกษาแพทย์เลว พูดในสิ่งที่คณะแพทย์ไม่อยากฟัง" ส่งผลให้มีชาวโซเชียลแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก และขยายวงวิพากษ์วิจารณ์ไปจน #นักศึกษาแพทย์เลว ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 โดยมีผู้ทวีตข้อความกว่า 116,000 ทวีต
ขอเสียงนักศึกษาแพทย์เลว . พูดในสิ่งที่คณะแพทย์ไม่อยากฟัง
โพสต์โดย มาโนช แซ่อื้อ โชคแจ่มใส เมื่อ วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2020
หลายทวีตอ้างถึงเหตุการณ์ในช่วงชีวิตการเป็นนักศึกษาแพทย์ โดยพบว่าบางคนเคยถูกทำร้ายทางคำพูด มีการใช้คำหยาบ ด่าทอ ดูถูกเรื่องผลการเรียน รวมถึงการด่าทอถึงขั้นกดดันให้ลาออก หรือไล่ให้ไปตาย รวมถึงใช้คำพูดล้อเลียน ทั้งยังให้ทำงานอย่างหนักติดต่อกันหลายสิบชั่วโมง บางคนมีเวลากินข้าวเพียงไม่กี่นาที เพียงเพราะถูกแลกเวรจากผู้ใหญ่โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขึ้นคลินิกอาจารย์สูตินารีท่านหนึ่งจบโรงเรียนทหาร กำลังสอนเรื่องมะเร็งปากมดลูก เรียกให้ผมออกไปเป็นตัวแทนทำปากจู๋ เขาเอาไม้มาเขี่ยปากผมเลียนแบบการเขี่ย pap smear ขูดปากมดลูก เรายืนงงอยู่นานก็ค่อยรู้ว่าเขามาล้อว่าปากคือช่องคลอด
นอกจากนี้ ผู้ใช้ทวิตเตอร์บางบัญชี ยังบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่ถูกทำร้ายร่างกาย เช่น ถูกกระชากแขน หยิกแขน หรือเขวี้ยงเครื่องมือผ่าตัดใส่ รวมถึงการให้คุณค่ากับคนหน้าตาดี โดยให้สิทธิพิเศษ ส่วนนักศึกษาที่หน้าตาไม่ดีจะได้รับคำพูดลดคุณค่าตัวเอง
ขณะเดียวกันใน #นักศึกษาแพทย์เลว ไม่ได้มีเพียงการทวีตบอกเล่าประสบการณ์เท่านั้น แต่ยังมีชาวโซเชียลบางส่วนได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นถึงการทำงานของแพทย์ที่มีจำนวนน้อยแต่ต้องรับภาระกับผู้ป่วยจำนวนมาก จนทำให้ไม่ได้พักผ่อน แต่สังคมกลับเกิดวาทกรรมว่า แพทย์ต้องอดทนและเสียสละเพื่อส่วนรวม โดยหลายคนมองว่าแพทย์ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับการพักผ่อนเช่นเดียวกัน
"เครียด" ปัญหาสุขภาพจิตของนักศึกษาแพทย์
ขณะที่ เพจเฟซบุ๊ก Thammasat University Library ยังได้เผยแพร่ข้อความ ระบุว่า ตีแผ่ชีวิตนักศึกษาแพทย์ ผ่านงานวิจัย ช่วงชีวิตของนักศึกษาแพทย์ อดนอน เรียนหนัก แถมยังมีความเครียด จนหลายคนก็บ่นออกมาว่า "เรียนหมอหนักมาก" จากงานวิจัย "การศึกษาปัจจัยความเครียดในนักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" พบว่า หนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อยที่สุดคือ ความเครียด ตั้งแต่การปรับตัวเข้าสู่ระบบการเรียนในชั้นปีที่ 1 สู่การเรียนเฉพาะด้าน นอกจากนี้ในด้านการเรียนและการสอบเองก็เช่นกัน รวมไปถึงปัจจัยแวดล้อมภายนอกด้วย
ตีแผ่ชีวิตนักศึกษาแพทย์ ผ่านงานวิจัย . ช่วงชีวิตของนักศึกษาแพทย์ อดนอน เรียนหนัก แถมยังมีความเครียด...
โพสต์โดย Thammasat University Library เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน 2020