วันนี้ (18 ธ.ค.2563) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าเพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของประเทศสร้างรายได้ให้ประชาชนชาวไทย ภายหลังวิกฤตการณ์การระบาดของโรคติดชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรค COVID-19 รัฐบาลจึงมีแนวคิดในการนำจุดเด่นของประเทศในด้านการท่องเที่ยวมาดึงดูดชาวต่างชาติ ซึ่งจะต้องกระทำด้วยความรอบคอบ รัดกุม ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการระบาดของโรค COVID-19 ระลอกใหม่ ที่ผ่านมากรม สบส.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนารูปแบบการกักกันตัว (Quarantine) ทั้งสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก (Alternative State Quarantine-ASQ) หรือสถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine-AHQ) ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และความเหมาะสมต่อประเภทของผู้กักกันมาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศหลักเกณฑ์แนวทางการกำหนดสถานกักกันในกิจการกอล์ฟ (Golf Quarantine) เพื่อรองรับความต้องการของนักกีฬาชาวต่างชาติและผู้ติดตามที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยทั้งทางบกและอากาศ เพื่อออกกำลังกายด้วยการเล่นกีฬากอล์ฟและการทำกิจกรรมด้านสุขภาพ ในพื้นที่ปิดของสนามกอล์ฟซึ่งไม่มีการให้บริการแก่บุคคลทั่วไปตามที่รัฐกำหนด ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบกิจการกอล์ฟยื่นเรื่องเข้ามาขอรับการตรวจประเมินจากกรม สบส.จำนวน 6 แห่ง โดยจะมีการประกาศรายชื่อสนามกอล์ฟที่ผ่านการตรวจประเมินที่หน้าเว็บไซต์กรม สบส. (www.hss.moph.go.th) ภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ธ.ค.2563
นพ.ธเรศ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มนักกอล์ฟชาวต่างชาติและผู้ติดตามที่จะเข้ารับบริการที่สถานกักกันกิจการกอล์ฟนั้นจะอนุญาตเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งประมาณการรายได้ไว้ที่ 100,000 บาท ต่อคน โดยทั้งนักกอล์ฟและผู้ติดตามจะต้องมีผลตรวจโรค COVID-19 ก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง มีการทำข้อตกลงและจองแพ็คเกจการเดินทางกับตัวแทนบริษัทนำเที่ยว โดยจะต้องนัดหมายล่วงหน้ากับสถานกักกันกิจการกอล์ฟและขอหนังสือรับรองให้เดินทางเข้าประเทศไทยได้ (Certificate of Entry-COE) จากสถานเอกอัครราชทูตก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย
และเมื่อเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้วจะต้องเข้าพัก ณ สถานกักกันกิจการกอล์ฟ เป็นเวลา 14 วัน ระหว่างนี้สามารถออกรอบและทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพได้ โดยผู้รับบริการและผู้ติดตามจะได้รับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ทางห้องปฏิบัติการ รวม 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ในวันที่เดินทางมาถึง ครั้งที่ 2 วันที่ 5 หรือ 7 และครั้งที่ 3 วันที่ 13 หรือ 14 หากพบว่าติดเชื้อ COVID-19 จะส่งรักษาในโรงพยาบาลคู่สัญญา โดยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า นอกจากการคุมเข้มตัวนักท่องเที่ยวและผู้ติดตามแล้ว ในส่วนของผู้ให้บริการหรือแคดดี้นั้น ประกาศกระทรวงสาธารณสุขก็มีข้อกำหนดเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรค COVID-19 ภายในประเทศ โดยผู้ให้บริการหรือแคดดี้ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และมีถุงมืออนามัยตลอดการทำงาน มีการจัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์แก่ผู้ปฏิบัติงาน ขณะออกรอบมีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และผู้ให้บริการหรือแคดดี้ทุกคนต้องทำความสะอาดร่างกายและล้างมือหลังออกรอบทุกครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พบติดเพิ่ม 3 คนเคสเจ้าของแพกุ้ง รวมกลุ่มเสี่ยง 165 คน
"สมุทรสาคร" ออกประกาศ คุมจ้างแรงงานต่างด้าวป้อง COVID-19