วันนี้ (7 ม.ค.2564) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงผลกระทบ COVID-19 ต่อสุขภาพจิตของคนไทย ว่า ย้อนข้อมูลปี 2563 พบว่า คนไทยเครียดสูงสุดในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 รอบแรก จากนั้นค่อย ๆ ลดระดับลงตามสถานการณ์การแพร่ระบาด กระทั่งสิ้นปี 2563 สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ปี 2564 พบว่า ภาวะความเครียดของคนไทยเริ่มกลับมาอีกครั้ง จากระดับ ร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 2 และร้อยละ 4 ตามลำดับ
นอกจากนี้ ได้สำรวจข้อมูลเพิ่มเติม ณ วันที่ 23-24 ธ.ค.2563 พบว่า ประชาชนรู้กังวล หรือตื่นตระหนกในสถานการณ์ COVID-19 โดยเฉพาะ จ.สมุทรสาคร กรุงเทพฯ เชียงราย เชียงใหม่ ซึ่งกังวลว่าตนเองมีโอกาสติดเชื้อ ได้แก่ กังวลเมื่อต้องออกนอกบ้าน และการเตรียมความพร้อมป้องกันตนเอง ทั้งหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ แต่ภาพรวมประชาชนยังมีกำลังใจในการต่อสู้เพื่อให้ผ่านวิกฤตในครั้งนี้ โดยได้รับกำลังใจจากคนใกล้ชิดและคนรอบข้าง
อธิบดีกรมสุขภาพจิต ขอให้ประชาชนร่วมกันฉีดวัคซีนใจ เพื่อปรับตัวเผชิญสถานการณ์วิกฤตได้อย่างเข้มแข็งและฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ โดยมี 3 ระดับ ได้แก่ ระดับบุคคล ระดับครอบครัว และชุมชน ด้วยการป้องกันตัวโรคอย่างสม่ำเสมอ อย่าตื่นกลัว กรั่นกรองข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ และมีความหวัง พูดคุย สื่อสารเชิงบวก รวมทั้งการเห็นใจซึ่งกันและกัน
เราเข้าสู่สถานการณ์ที่อาจทำให้มีความกังวลใจ จำเป็นต้องเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อม ด้านจิตใจอยากให้พวกเรามีวัคซีนใจ ในการเผชิญสถานการณ์ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตและพร้อมรับมือ