ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับตาเลือกตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่

ภูมิภาค
15 มี.ค. 64
15:07
1,673
Logo Thai PBS
จับตาเลือกตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่
นักวิชาการชี้ประชาชนคาดหวังนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ คนใหม่ ต้องสามารถแก้ปัญหาเมืองเชียงใหม่ ที่ซับซ้อนและหลากหลายไม่ต่างจากกรุงเทพมหานครฯ

จังหวัดเชียงใหม่มีผู้สมัครเลือกตั้งนายก และสมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 4,048 คน เป็นผู้สมัครนายกเทศมนตรี 299 คน ผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาล 3,749 คน ถือเป็นพื้นที่ ที่มีผู้สมัครมากที่สุด ในประเทศจากการเลือกตั้งนายก และสมาชิกสภาเทศบาล 2,472 แห่ง ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยสนามเลือกตั้งที่ถูกจับตามากที่สุดคือเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งมีผู้สมัครรวม 116 คน

น.ส.พินสุดา วงศ์อนันต์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาการเมืองการปกครองคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า จำนวนผู้สมัครที่มีมาก ถือเป็นทางเลือกที่หลากหลาย และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการเลือกลงคะแนน

 

โดยสนามเลือกตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่พบว่า ปูมหลังของผู้สมัครอาศัยเครือข่ายส่วนตัว เครือข่ายทางสังคม และทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ในหลักการแล้วประเทศที่มีการเมืองเข้มแข็ง พรรคการเมืองจะเข้ามามีบทบาทในการเลือกผู้สมัคร แต่ในประเทศไทย พรรคการเมืองกลับไม่ได้ทำหน้าที่นี้ ซึ่งสาเหตุอาจเป็นเพราะเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างพันธมิตรทางการเมือง

 

 

สำหรับผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ บางส่วนเคยมีประสบการณ์ในการบริหารเมืองเชียงใหม่มาแล้ว แต่บางส่วนก็ไม่เคยทำงานโดยตรงมาก่อนเลย ซึ่งก็ทำให้ผู้สมัครมีจุดแข็ง และจุดอ่อนที่ต่างกัน

 

 

คนเก่าอาจมีข้อได้เปรียบในการให้ภาพความสำเร็จในงานที่เคยทำมา ขณะที่ผู้สมัครหน้าใหม่ก็อาจต้องนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้กับสังคม ภายใต้บริบทของความท้าทายของเมืองเชียงใหม่ ที่มีปัญหาซับซ้อนมากขึ้น และหลายๆ ปัญหาไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครฯ

 

 

ประชาชนจึงมีความคาดหวังต้องการตัวผู้สมัครนายกฯ ที่มีความสามารถ ขณะที่ทีมรองนายกฯ ทีมบริหาร ก็ต้องมีความรู้เฉพาะที่พิเศษในการเข้ามาทำหน้าที่ต่างๆ

 

 

สำหรับการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งที่ผ่านมา ถือว่ามีความเชื่อมโยงกับการเลือกตั้งเทศบาลในหลายๆ มิติ ด้วยเงื่อนเวลาที่ห่างกันเพียง 2-3 เดือน ผลการเลือกตั้ง อบจ.จึงสะท้อนภาพให้แก่สนามเลือกตั้งเทศบาลด้วย ทำให้ผู้สมัครทราบจุดแข็ง และจุดอ่อนของตนเอง ว่าควรเพิ่มเติมแผนการหาเสียงในจุดใด มากน้อยแค่ไหน

 

 

สำหรับประเด็นที่ประชาชนควรสนใจ ก็คือ การทุจริตการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากการเลือกตั้งเทศบาลนคร กกต.กำหนดกรอบของกฎหมายให้ผู้สมัครใช้งบประมาณหาเสียงได้ไม่เกิน 3 แสนบาท

 

 

ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงเช่นนี้ ก็ได้สร้างความได้เปรียบ หรือ เสียเปรียบให้กับผู้สมัคร ผู้สมัครที่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูง จึงมีโอกาสในการใช้เงินตามกรอบกฎหมายเพื่อผลิตสื่อจำนวนมาก ขณะที่ผู้สมัครที่มีทุนน้อยกว่าก็จะเสียเปรียบ

 

 

งบหาเสียงที่สูงถือว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะหากเทียบค่าตอบแทนของนายกเทศมนตรี กับค่าใช้จ่ายในการหาเสียง จะพบว่าแตกต่างกันมาก จึงถือเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่อาจนำไปสู่กระบวนการใต้ดินที่อาจเกิดขึ้นอีก จึงเห็นว่าในอนาคตความจำเป็นที่ต้องมีการทบทวนในเรื่องกรอบค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร

 

 

นอกจากนี้การชูนโยบายต่างๆ ในการหาเสียงของผู้สมัคร ก็ควรได้รับการตรวจสอบติดตามภายหลังการเลือกตั้งว่า นโยบายใดได้ทำบ้าง นโยบายใดที่ถูกละเลย เพราะงบประมาณกว่า 1,600 ล้านบาท ของเทศบาลนครเชียงใหม่ ถือเป็นงบประมาณมหาศาล ที่ควรต้องตรวจสอบว่าถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรอบด้านหรือไม่ เพราะไม่สมควรอย่างยิ่งหากถูกนำไปใช้เฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง