ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คาดมีสิ่งปนเปื้อนขณะบรรจุขวด เหตุ "สโตรก" หลังฉีดซิโนแวค

สังคม
22 เม.ย. 64
09:35
1,556
Logo Thai PBS
คาดมีสิ่งปนเปื้อนขณะบรรจุขวด เหตุ "สโตรก" หลังฉีดซิโนแวค
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เผยอาจมีสิ่งปนเปื้อนในขณะเตรียม หรือบรรจุขวดวัคซีน Sinovac เหตุผู้ได้รับวัคซีนบางรายมีอาการคล้ายหลอดเลือดสมอง เตรียมติดต่อบริษัทผู้ผลิตถึงความผิดปกติ ชี้ฉีดต่อได้ แต่ต้องเฝ้าระวังอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังกลับบ้าน

จากกรณีผู้ได้รับวัคซีน COVID-19 ของ Sinovac ส่วนหนึ่งเกิดอาการคล้ายอัมพฤกษ์ ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เป็นอาการทางระบบประสาทมากน้อยแตกต่างกัน และบางรายอาการคล้ายหลอดเลือดสมอง หรือสโตรก ซึ่งทั้งหมดเป็นอาการชั่วคราวและหายเป็นปกติภายใน 1-3 วัน

วันนี้ (22 เม.ย.2564) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ถึงแม้วัคซีนจะมีผลข้างเคียง แต่ต้องขอบพระคุณอาจารย์หมอทางสมองหลายคน ทั้งที่ ระยอง ลำปาง ศรีราชา อุบลราชธานี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลเอกชน รวมทั้งอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ และสถาบันประสาทวิทยา ซึ่งได้อธิบายว่า ลักษณะที่เกิดขึ้นทำให้เส้นเลือดเกร็งและหดตัว เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อสมองไม่เพียงพอ อาจเกิดขึ้นจนทำให้มีอาการเฉพาะส่วนได้ และพิสูจน์แล้วจากการสอดสายฉีดสีเข้าเส้นเลือดสมองและให้ยาขยายเส้นเลือด พบว่า ผู้ป่วยอาการดีขึ้นทันที

ในขณะเดียวกันต้องระวังว่า หากเส้นเลือดเกร็งและหดตัวนานจะเกิดเส้นเลือดตันซ้ำซ้อน รวมถึงเนื้อสมองตายถาวร ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาละลายลิ่มเลือด และหลายแห่งใช้วิธีนี้พบว่าผู้ป่วยดีขึ้นเช่นกัน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุว่า การเกิดอาการดังกล่าวไม่น่าจากตัววัคซีน แต่อาจมีสิ่งปนเปื้อนในขณะเตรียม หรือการบรรจุขวด ซึ่งทางการจะติดต่อบริษัทผู้ผลิตถึงความผิดปกตินี้ ซึ่งเอกสารแนบส่วนประกอบของวัคซีนจะไม่สามารถอธิบายสิ่งปนเปื้อนเหล่านี้

ขั้นตอนที่ต้องทำ คือ ฉีดวัคซีนต่อและเตรียมการเฝ้าดูอาการอย่างน้อย 30 นาที และมีข้อระวังตัวอีกอย่างน้อย 24 ชั่วโมงเมื่อกลับบ้านแล้ว เพื่อให้สามารถรักษาได้ทัน

ยาที่ขยายหลอดเลือดทุกโรงพยาบาลมีอยู่แล้ว ทั้งที่เป็นกิน และถ้าไม่ได้ผลจะเป็นในรูปการสอดใส่สายเข้าในเส้นเลือดเพื่อให้ยาขยายหลอดเลือด


สำหรับโรคดังกล่าวทราบดีมาแต่โบราณ vasospaatic amaurosis fugax ที่ตาบอดข้างเดียว หรือ 2 ข้าง และ reversible cerebral vasoconstriction syndrome" (RCVS) ซึ่งมีลักษณะทับซ้อนกับ PRES posterior reversible encephalopathy รวมทั้งไมเกรนที่มีผลแทรกซ้อน ทางหลอดเลือดเกร็ง กลุ่มอาการเหล่านี้แม้ว่าส่วนมากจะกลับคืนมาได้เอง ซึ่งอธิบายได้ว่าเหตุใดการตรวจคอมพิวเตอร์สมอง CT หรือคอมพิวเตอร์สนามแม่เหล็ก MRI จะไม่พบความผิดปกติ 70% แต่ผู้ป่วยที่มีการหดเกร็งนาน โดยเฉพาะในกรณีของวัคซีนนี้จะทำให้เส้นเลือดตันและเกิดความพิการถาวรได้

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

พบ 6 คน เกิดอาการอัมพฤกษ์ หลังฉีดวัคซีน "Sinovac" 

แจง 6 คนอาการสโตรกโยงฉีดซิโนแวค-ไม่ระงับฉีดต่อ 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง