วันนี้ (2 มิ.ย.2564) นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2565 ระบุ รัฐบาลจัดงบฯ แบบไทย ๆ โดยรัฐราชการรวมศูนย์ เป็นศูนย์รวมของปัญหา มือใครยาวสาวได้สาวเอา ในเชิงฟังก์ชัน งบลงทุนปี 2565 จำนวน 4.73 แสนล้านบาท 5 กระทรวงที่ได้มากสุด คือ
- กระทรวงคมนาคม ได้ 34.6 %
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 16.0 %
- งบกลาง 11.8 %
- กระทรวงมหาดไทย 8.2 %
- กระทรวงสาธารณสุข 3.6 %
กรมทางหลวงได้งบลงทุนมากที่สุดในประเทศ งบลงทุน 109,443 ล้านบาท คิดเป็น 23.2 % ของงบลงทุนทั้งประเทศ ขณะที่กรมทางหลวงชนบทได้งบลงทุน 44,717 ล้านบาท คิดเป็น 9.5 %
30 % ของงบลงทุนทั้งประเทศคือ ไปสร้างถนน ประเทศไทยลงทุนคือ สร้างถนนหรือครับ
นอกจากนี้ นายสุรเชษฐ์อภิปรายต่อว่า ยังมีมือใครยาวสาวได้สาวเอา ในเชิงพื้นที่ ทุกพื้นที่อยากได้งบฯ มาก ขณะที่งบประมาณมีจำกัด ถ้าที่แห่งหนึ่งได้มาก ที่อื่นจะได้น้อย จนเกิดสถานการณ์ได้เปรียบเสียเปรียบ
ดังนั้น ต้องแก้ปัญหาเป็นเชิงระบบ กระจายงบอย่างเป็นธรรม ตัวอย่างกรมทางหลวงนำงบฯ ไป 115,422,048,600 บาท เพื่อสร้างถนน แต่ตั้งตัวชี้วัดไว้เพียง 2 ตัว คือ
1.อัตราการเสียชีวิต คงที่ = 1.94 คนต่อแสนคน "ท่านไม่อยากลด หรือไม่อยากรับผิดชอบ เอะอะโทษประชาชน ว่าเป็นเพราะพฤติกรรมการขับขี่"
2.ความเร็วเฉลี่ย กำหนดค่าเป้าหมายให้ดีขึ้นแบบพอเป็นพิธี (77.5 เพิ่มเป็น 78.0 กม./ชม.) "ซึ่งต้องถามว่ามีการวัดอย่างไร เฉลี่ยอย่างไร สะท้อนภาพรวมการใช้งบฯ เท่าใด ตั้งตัวชี้วัดแบบนี้เอาเงินไปเพียง 5 หมื่นล้านก็ได้ เหมือนตั้งตัวชี้วัดแบบขอให้มี"
ปัญหาอื่น ๆ คือ การเอื้อประโยชน์ให้นายทุน เอื้อพวกพ้อง เอื้อคอร์รัปชัน ตัดเสื้อโหลแจก เหมือนโคกหนองนา อาคารเรียน โรงพัก เล็ก ๆ ไม่ ใหญ่ ๆ ทำ แบบมอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง โดยไม่ยึดโยงกับความต้องการของประชาชนเท่าที่ควร
ใช้งบพัฒนาเส้นทางซ้ำซ้อน ไม่สร้างถนนตามผังเมือง
นายสุรเชษฐ์ ยังกล่าวถึงการใช้งบประมาณเพื่อพัฒนาเมืองซ้ำซ้อน อย่างกรณีภาพใหญ่ของ Mega Projects ด้านคมนาคม หน่วยงานส่วนกลางแย่งงบกันสร้างถนน ระหว่างเมือง และเสริมออปชันเกินความจำเป็นตาม 4 แกนหลัก เช่น กรุงเทพฯ - โคราช ใช้ 25,000 ล้านบาท สร้างรถไฟทางคู่ และมีรถไฟความเร็วสูง 179,000 ล้านบาท อีก 2 ทาง กลายเป็นมี 4 ทาง และยังสร้างมอเตอร์เวย์ไปอีก 85,000 ล้านบาท ไปตัดดีมานด์กันเอง
เราเอาแต่จะไปเชื่อมเฉพาะตรงนี้ แล้วที่อื่นไม่ต้องพัฒนาหรืออย่างไร ดังนั้นภาพใหญ่คือ ต้องลดโครงการซ้ำซ้อนระหว่างเมือง แต่ไปสร้างเมือง เพราะประเทศไทยก็ยังขาดหัวเมือง ตอนนี้มันนับเป็นเมืองไม่ได้เลย ยกเว้นกรุงเทพฯ
ทล.-ทช. แย่งงบฯ ลงทุน ท้องถิ่นไร้เงินซ่อมถนน
นอกจากนี้ นายสุรเชษฐ์ ยังยกตัวอย่าง จังหวัดภูเก็ต กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แบ่งถนนดูแลอย่างไม่เป็นระบบ และ อปท.ทั่วประเทศ แทบไม่มีเงินแม้แต่จะซ่อมถนน และไม่ได้สร้างถนนเพิ่ม ตามผังเมือง ระบบขนส่งสาธารณะในเมืองแทบไม่มี ทั้งที่ท้องถิ่นมีถนนต้องดูแลมากกว่าส่วนกลาง
งบฯ ซ่อมถนนปี 2565 ความยาวถนนต่อ 2 ช่องจราจร พบว่า กรมทางหลวงดูแล 78,045 กิโลเมตร ได้งบฯ ซ่อมความยาว 0.270 ล้านบาทต่อกิโลเมตร กรมทางหลวงชนบท 50,267 กิโลเมตร ได้งบฯ ซ่อมความยาว 0.350 ล้านบาทต่อกิโลเมตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 597,667 กิโลเมตร ได้งบ 0.058 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ท้องถิ่นไม่ได้รับการเหลียวแล แม้แต่การซ่อมถนนที่มีอยู่ โดยงบฯ ซ่อมต่องบฯ ลงทุน ทล. 19.2% และ ทช. 39.4 %
ไทยคิดแต่จะสร้างถนน ไม่ได้คิดจะสร้างเมือง ลองสังเกตว่า ประเทศไหนบ้างที่มีทางกลับรถเยอะไปหมด แล้วต้องทำสะพานลอยกลับรถตัวละ 300-500 ล้านบาท
เมื่อรถติดคิดแต่ขยายถนนเพิ่ม ขยายเต็มที่แล้วก็ทำทางยกระดับ ทำอุโมงค์ สร้างสะพานข้ามแยก ข้ามทุกแยกแล้ว รถติดอยู่ไหม รัฐต้องคิดให้มาก ๆ วางแผนพัฒนาเมือง ไม่ใช่คิดแต่จะสร้างถนน
นายสุรเชษฐ์กล่าวต่อว่า ตัวอย่างการคิดสร้างเมือง คือ ถนนต้องมีลำดับชั้น เมืองไม่ควรโตขนานไปกับถนนสายหลัก แต่ควรแยกออกมาโต ในเชิงพื้นที่ เพื่อให้เมืองสร้างเศษฐกิจรายย่อย
ต้องมีจุดใจกลางเมือง มีถนนหลักแนวเหนือ-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตก และตีกริด อย่างไรก็ไม่หลง วางแผนเพื่อสร้างเมือง ประหยัดขนาดเมือง รถก็จะไม่ติด
ทางออกคือกระจายอำนาจและเงินสู่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นตัดสินใจ ใช้งบฯ ให้คุ้มค่า ไม่ซ้ำซ้อน ขอรัฐบาลทำกติกาให้ยุติธรรม 7 ปี ทำแบบเดิม ๆ ไม่เห็นอนาคต ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยน