"ผมไม่อยากแยกพ่อแยกลูกกัน ลืมเรื่องกฎระเบียบ เพิ่มความเป็นมนุษย์"
นพ.อนุชิต นิยมปัทมะ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ รพ.มหาราชนครราชสีมา โพสต์เฟซบุ๊ก "อนุชิต นิยมปัทมะ" เล่าเรื่องราวของเด็กวัย 3 ขวบ พยาบาลอายุน้อยที่สุดในหอผู้ป่วยหนัก ICU ที่คอยดูแลพ่อไม่ห่าง
หลังรับชายวัย 44 ปี เข้ามารักษาอาการติดเชื้อ COVID-19 ลงปอด พบว่ามีอาการหอบเหนื่อยมาก ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ และขอย้ายมาใช้เครื่องช่วยหายใจ High-flow
ผ่านไปเพียง 5 นาที โรงพยาบาลที่ส่งตัวมา โทรศัพท์แจ้งว่า ขอให้รับเด็กวัย 3 ขวบที่ติดเชื้อด้วย เพราะเป็นลูกของชายคนดังกล่าว แต่อาการไม่หนักมาก และต้องแยกจากแม่ที่ติดเชื้ออาการหนัก รักษาตัวอยู่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ
ปกติหอผู้ป่วยหนักไม่ได้ให้ใครเฝ้า แต่เด็กน้อยไม่รู้ไปอยู่ไหนดี คุณพ่อดูเหนื่อยมาก ใช้เครื่องช่วยหายใจ High-flow แต่สติยังดี แม้ลุกดูลูกไม่ไหว แต่ก็พยายามลุกมาชงนมให้ลูกกิน เห็นแล้วน้ำตาคลอ ในฐานะคนเป็นพ่อเหมือนกัน อยากบอกว่าสู้ ๆ นะครับ ผมก็ทำหน้าที่ผมให้ดีที่สุดเหมือนกัน
โควิดระลอก เม.ย.เด็กเล็กติดเชื้อเพิ่ม
สอดคล้องกับข้อมูลจาก รศ.พิเศษ พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ กุมารแพทย์เชี่ยวชาญ โรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ที่ระบุว่า การติดเชื้อในเด็กส่วนใหญ่เป็นการติดจากคนในครอบครัว ซึ่งการรักษาเด็กมีความยากกว่าผู้ใหญ่ ตั้งแต่การตรวจสวอป เพราะเด็กจะร้องตะโกน เสี่ยงต่อการแพร่ละอองฝอย จึงต้องดำเนินการในห้องความดันลบ
ตั้งแต่การระบาดระลอก เม.ย.ที่ผ่านมา พบตัวเลขผู้ป่วยเด็กเพิ่มขึ้นชัดเจน ประมาณ 400 คน แต่ รพ.จะรับผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัว รองรับผู้ป่วยได้ 60 เตียง ขณะนี้มีผู้ประสานขอเตียงผ่านระบบไลน์ประมาณ 200 เคส ส่วนเด็กอาการน้อยจะเข้าโครงการ Home Isolation
"น้องมีอาการผิดปกติอะไรไหม มีเหนื่อยบ้างไหมคะ" ทุก ๆ วันพยาบาลวิชาชีพ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จะวิดีโอคอลสอบถามอาการผู้ป่วยเด็ก ที่เข้าร่วมโครงการ Home Isolation ในเดือนนี้กว่า 200 คน โดยจ่ายยาแก้ไอ พาราเซตามอล และติดตามอาการวันละ 2 ครั้ง พร้อมส่งอาหารให้ 3 มื้อตามแนวปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ออกคำแนะนำ Home Isolation สำหรับเด็ก โดยผู้ป่วย COVID-19 จะเริ่มแพร่เชื้อก่อนมีอาการประมาณ 2-3 วัน ไปจนถึงสิ้นสุดสัปดาห์แรกของการเจ็บป่วยนับจากมีอาการ
ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรืออาการดีขึ้นแล้ว อาจยังมีเชื้อไวรัสที่ยังแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้เป็นระยะเวลาประมาณ 10 วัน หลังจากเริ่มป่วย ดังนั้นผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จำเป็นต้องแยกตัวเองจากผู้อื่นขณะอยู่ที่บ้าน
แยกตัวที่บ้านอย่างไร?
- ผู้ที่แยกกักตัวจะต้องอยู่บ้าน รักษาระยะห่างจากผู้อื่นจนพ้นระยะติดเชื้อ สังเกตอาการของ COVID-19 และไม่ให้คนมาเยี่ยมที่บ้าน
- ต้องอยู่ห่างจากสมาชิกคนอื่นในบ้านและสัตว์เลี้ยง 6 ฟุต ถ้าสามารถทำได้ ยกเว้นผู้กักตัวด้วยเหตุผลเดียวกัน
- ใส่หน้ากากอนามัยหากไม่สามารถรักษาระยะห่าง 6 ฟุตจากผู้อื่น ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และผู้ที่มีปัญหาหายใจลำบาก ไม่ควรใส่หน้ากากอนามัย
- ล้างมืออย่างถูกวิธีด้วยน้ำ และสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือบ่อยๆ
- แยกนอนในห้องเดี่ยว หากแยกห้องนอนไม่ได้ ให้รักษาระยะห่าง หรือนอนกลับหัวกัน
- แยกสิ่งของเครื่องใช้เป็นส่วนตัว
เมื่อเด็กป่วย แต่ผู้ดูแลไม่ติดเชื้อ
- เด็กอายุมากกว่า 2 ปี แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัย ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
- ไม่ควรพาเด็กออกไปนอกบ้าน หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับบุคคลที่มีโอกาสเกิดโรครุนแรง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว
- อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี เปิดหน้าต่าง หรือประตู เพื่อให้มีการระบายอากาศที่เพียงพอ
- ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสเด็ก และจุดเสี่ยงที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ 70 %
- ไม่กินอาหาร หรือเครื่องดื่มร่วมกัน ไม่ใช้สิ่งของร่วมกันระหว่างเด็กและผู้ดูแล เช่น จานชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว
- กรณีที่เป็นแม่ให้นมลูก ยังสามารถให้นมได้ เนื่องจากยังไม่มีรายงานพบเชื้อ COVID-19 ในน้ำนม แต่แม่ควรสวมหน้ากากอนามัยและล้างมืออย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนสัมผัสหรือให้นมลูก
- สร้างสุขลักษณะในการใช้ห้องน้ำ ปิดฝาก่อนกดชักโครกทุกครั้ง ล้างมือให้ถูกวิธีทุกครั้งก่อนออกจากห้องน้ำ
เฝ้าสังเกตอาการ
- ควรมีอุปกรณ์เพื่อติดตามอาการเด็ก ได้แก่ ปรอทวัดไข้, ที่วัดออกซิเจนปลายนิ้ว, โทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ที่สามารถถ่ายคลิปอาการของเด็กได้
- ยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่ ยาลดไข้ (พาราเซตามอล), ยาแก้ไอ, ยาลดน้ำมูก, เกลือแร่
- ให้ผู้ดูแลสังเกตอาการของเด็ก วันละ 2 ครั้ง
- อาการที่ผู้ปกครองสามารถสังเกตต่อที่บ้านได้ ได้แก่ ไข้ต่ำ น้ำมูก ไอเล็กน้อยแต่ไม่หอบเหนื่อย ถ่ายเหลว แต่กินอาหารหรือนมได้ปกติ ไม่ซึม
- อาการที่ผู้ปกครองควรติดต่อเจ้าหน้าที่หรือโรงพยาบาล ได้แก่ หายใจเหนื่อย อกบุ๋ม ปากเขียว (กรณีมีอุปกรณ์อาจใช้วิธีถ่ายคลิปได้) ออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า หรือเท่ากับ 96% (กรณีมีที่วัด) ซึม ถ่ายเหลวอาเจียนมาก กินไม่ได้ ไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส
เด็กต่ำกว่า 6 ปี ติดเชื้อแล้ว 1.3 หมื่นคน
ข้อมูลจากกรมอนามัย พบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ในกลุ่มเด็กปฐมวัย อายุต่ำกว่า 6 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2563-25 ก.ค.2564 มีเด็กต่ำกว่า 6 ปี ติดเชื้อ 13,444 คน อาการรุนแรง 791 คน และเสียชีวิต 2 คน เป็นเด็กวัย 1 เดือน และ 2 เดือน โดยพบว่า เด็กที่เสียชีวิตทั้ง 2 คน มีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรง และสัมผัสบุคคลที่เป็นโรคในครอบครัว
ก่อนหน้านี้ช่วงเดือน เม.ย.2564 พบการระบาดคลัสเตอร์ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลแม่คือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เด็กติดเชื้อ 16 คน ครูติดเชื้อ 2 คน ภารโรงติดเชื้อ 1 คน, เดือน มิ.ย.2564 คลัสเตอร์บ้านเด็กอ่อนรังสิต จ.ปทุมธานี เด็กติดเชื้อ 33 คน ผู้ดูแลติดเชื้อ 6 คน, เดือน ก.ค. คลัสเตอร์ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลศรีสุข อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น เด็กติดเชื้อ 34 คน ครูติดเชื้อ 8 คน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
นิวไฮ! ไทยติดโควิดรายวันแตะ 2 หมื่นคน เสียชีวิตเพิ่ม 188 คน
เปิดบันทึก "เมื่อฉันเป็นโควิด" กับชีวิต Home Isolation