วันนี้ (19 ส.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วาระที่ 2 มาตรา 15 กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานในกำกับ วงเงิน 57,276 ล้านบาท ขณะที่ กมธ.พิจารณาปรับลดงบฯ 121 ล้าน หรือ 3.62% เหลือ 57,154 ล้านบาทเศษ
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ในฐานะรองประธาน กมธ. ขอตัดงบฯ กระทรวงคมนาคม 5% โดยระบุว่า งบฯ กรมทางหลวงและทางหลวงชนบท รวมกันกินงบฯ ไปเกิน 90% ของกระทรวงคมนาคม โดยส่วนใหญ่ใช้ไปกับการก่อสร้างและบำรุงรักษาถนน
ยิ่งสร้างถนนมากเท่าใด ก็ยิ่งต้องใช้เงินบูรณะมากเท่านั้น
นายพิสิฐ ยังได้เสนอเลื่อนสร้างเทอร์มินอลเรือท่องเที่ยวในสถานการณ์ COVID-19 และขอให้ใช้งบฯ ใบขับขี่ 805 ล้าน พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการพกเอกสาร แนะเปลี่ยนงบก่อสร้างอาคารบ้านพักราชการ หลังละ 20 ล้านบาท เป็นงบฯ เช่าซื้อ เพื่อช่วยเศรษฐกิจ เพราะเอกชนหลายแห่งยังขายบ้านไม่ออก
ส่วน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กรรมาธิการ ขอสงวนความเห็นขอปรับลดงบฯ กระทรวงคมนาคม 1% เพราะพบว่างบ 200,000 ล้านบาท ถูกนำไปใช้ในทางหลวงชนบท 54% และลงทุนในระบบราง 8% สวนทางกับที่จะสนับสนุนการขนส่งสินค้าและคนด้วยระบบขนส่งมวลชนทางราง แต่เทงบให้ทางบกทั้งหมด
กรณีการขอตั้งงบฯ ของ กทพ.เรื่องการต่อสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ที่ฟ้องร้องกันในศาลปกครองสูงสุดให้จ่ายเงิน 4,000 ล้านบาท แต่กลับไปประนีประนอมยอมความแบบมีเงื่อนไข เหมือนกับการยอมรับสภาพหนี้ ทำให้ สตง.มองเรื่องนี้ไม่ถูกต้องจึงไม่รับรองงบการเงิน
"สุรเชษฐ์" ถามคมนาคมทุ่มเงินซื้อของเล่นยามโควิด
ขณะที่นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.ก้าวไกล ขอปรับลดเพิ่มจาก กมธ. 4.18 ล้านบาท ในส่วนรายการซื้อโดรน 38 รายการ ตัวละ 110,000 บาท ระบุ "แพงเกินจริงไปมาก" โดยราคาในตลาดอยู่ที่ 49,400 - 67,230 บาทเท่านั้น ทั้งยังมีการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง แขวง/ศูนย์ การกระจายไม่ทั่วถึงและไม่เป็นธรรม
"นี่เป็นการทุ่มซื้อของเล่นในยาม COVID-19" เมื่อดูรายการครุภัณฑ์สำรวจที่มีราคาต่อหน่วยต่ำกว่า 1 ล้านบาท พบว่า คิดเป็น 79% ของจำนวนรายการ และคิดเป็น 46% ของจำนวนเงิน ขอ "ลดการผลาญ สงสารประชาชนบ้างเถอะครับ"
ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาฯ มีมติ 222 ต่อ 87 เห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมากที่เสนอให้ปรับลดงบฯ กระทรวงคมนาคม จำนวน 121 ล้านบาท
สภาฯ ชำแหละงบกรมอุตุฯ-ชงตัดทิ้งงบศูนย์เฟกนิวส์
ส่วนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วาระที่ 2 มาตรา 16 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และหน่วยงานในกำกับ วงเงิน 3,898 ล้านบาทเศษ ขณะที่ กมธ.เสียงข้างมากพิจารณาปรับลดงบฯ 76 ล้านบาทเศษ หรือ ประมาณ 2%
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายขอสงวนความเห็นขอปรับลดงบฯ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยขอลดงบฯ โครงการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม โดยตัดทิ้งทั้งโครงการวงเงิน 79 ล้านบาท เพราะทำงานไม่ได้ตามวิสัยทัศน์และมาตรฐานในการก่อตั้ง
นายปกรณ์วุฒิ ระบุว่า เดิมรัฐมนตรีจะทำงานตามกรอบของเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงนานาชาติ (IFCN) ได้ และมีกรอบว่าจะตรวจสอบข่าวใดและไม่ตรวจสอบข่าวใด รวมทั้งจะต้องไม่เอนเอียงทางการเมือง เพื่อให้เกิดความเป็นกลาง แต่สุดท้ายกลับทำเพียงตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ได้ทำคดีข่าวปลอม เพราะเป็นเรื่องของ ปอท.
การตั้งศูนย์เฟกนิวส์ แบ่งเป็ตรวจสอบข่าวจริง ข่าวปลอมและข่าวบิดเบือน แต่กลับพบตรวจสอบข่าววัคซีน COVID-19 พบเลือกตรวจข่าวที่เป็นผลลบต่อนโยบายรัฐบาลเท่านั้น ดังนั้นศูนย์นี้ จึงตั้งมาเพื่อจะปกป้องรัฐบาล
ขณะที่ ช่วงเดือน พ.ค.มีการตั้งอนุกรรมการ 3 ชุด พบมีหน่วยงานที่มีอำนาจปราบปรามดำเนินคดี น่าสังเกตว่าภารกิจของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กับเป้าหมายของสำนักงานปลัด ไม่สามารถแยกจากกันได้
อยากถามว่าตัวชี้วัดในการปราบปรามที่ระบุว่าที่จะสร้างความเชื่อมั่นด้านดิจิตัล หรือมีไว้เพื่อปิดปากประชาชน
ด้านนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.เพื่อไทย ขอปรับลดงบฯ กรมอุตุนิยมวิทยา 1,000 ล้านบาท ออกไป 10% เพราะบริหารงานล้มเหลว และเสียหายต่องบแผ่นดิน โดยเฉพาะโครงการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวัดข้อมูลอุตุนิยมวิทยาระดับตำบลและอำเภอให้เป็นอัตโนมัติ 1 ระบบเสนอตั้งงบรวมไว้ 615 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2564 - 2566 อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา มีการตั้งกรรมการออก TOR หลายครั้ง ทำให้ต้องสอบถามในชั้น กมธ.แต่อธิบดียืนยันว่าใช้ทันแน่นอน และจะเซ็นสัญญาก่อน 30 ก.ย.2564 แต่จนถึงตอนนี้ยังอยู่ในขั้นออก TOR
"พิสิฐ" ทวงดีอีเอสตั้งงบฯ จ่ายค่าไฟเน็ตประชารัฐ
ขณะที่นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ในฐานะ กมธ. ขอตัดงบฯ ดีอีเอส 5% ระบุ งานกรมอุตุนิยมวิทยา มีการใช้งบฯ ลงทุนกับอุปกรณ์ตรวจจับอากาศในสนามบิน โดยเฉพาะสนามบินของ AOT จำนวนเงิน 395 ล้านบาท ซึ่งไม่ควรเป็นภาระของผู้เสียภาษีทั้งประเทศ แต่ AOT ควรรับภาระในส่วนนี้
เงินที่ไม่ควรเสียอีกรายการ คือ การสร้างเคเบิ้ลใต้น้ำเชื่อมโยงจากยุโรปไปเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นลักษณะธุรกิจโดยตรง เพราะเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการได้ ซึ่งใช้เงินลงทุนถึงพันล้าน ควรเป็นงานของรัฐวิสาหกิจที่สามารถเก็บค่าบริการได้ตามหลักการพาณิชย์ ไม่ควรใช้เงินภาษีมาตั้งงบฯ
ขณะที่สำนักนายกฯ มีหน่วยงานเกี่ยวกับดิจิทัล 2 หน่วยงาน เพื่อประหยัดงบฯ ควรมาอยู่กับดีอีเอส เพื่อลดการทำงานซ้ำซ้อน และอินเทอร์เน็ตประชารัฐ พบว่า รัฐบาลมอบหมายให้รัฐวิสาหกิจแล้วติดค้างค่าไฟฟ้า-บำรุงรักษาปีละ 1,600 ล้านบาทมา 2-3 ปีแล้ว จึงควรของบฯ คืน ไม่ใช่เป็นหนี้ค้างชำระ
ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาฯ มีมติ 228 ต่อ 68 เห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมากที่เสนอให้ปรับลดงบฯ ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จำนวน 76 ล้านบาทเศษ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สภาฯ โหวตผ่านงบ ก.เกษตรฯ ปรับลด 205 ล้านบาท
"จิรัฏฐ์" อภิปรายงบฯ กต. ขอปรับลด 10%
ฝ่ายค้านจวกงบฯ พม. ไม่ตอบโจทย์ COVID-19