ขอเอกสารกำกับ ATK ภาษาไทยลดใช้ผิดวิธี

สังคม
23 ส.ค. 64
13:33
5,129
Logo Thai PBS
ขอเอกสารกำกับ ATK ภาษาไทยลดใช้ผิดวิธี
สะท้อนปัญหาเอกสารกำกับภาษาไทยในชุดตรวจ ATK จำเป็นแค่ไหนกับผู้ซื้อใช้ และร้านขายยา ในยุค COVID-19 หลังพบนำเข้าจากหลายประเทศ 40 ยี่ห้อ ส่วนใหญ่ร้านขายยารับซื้อมาแบบกล่องแบ่งขายเป็นชุด "หมอธีระ" เตือนผลลบปลอม เสี่ยงกว่าคิดว่าไม่ติดเสี่ยงแพร่เชื้อ

ATK แต่ละยี่ห้อใช้แบบไหน? ฉันอ่านแล้วไม่เข้าใจขั้นตอน
โปรดมีคำอธิบายภาษาไทยที่ซอง ATK
เอกสารกำกับยาอยู่ไหน?

เชื่อว่าหลายคนคงมีคำถามในลักษณะเดียวกัน เพราะหลังจากการอนุญาตให้นำเข้าชุดตรวจโควิดด้วยตัวเอง หรือ ATK สามารถหาซื้อตามร้านขายยาที่มีเภสัชกรได้แล้ว

ทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยง หรือคิดว่าอยากตรวจหาเชื้อ COVID-19 เพื่อสร้างความสบายใจ ก็ต้องควักเงินซื้อชุดตรวจที่นำมาวางขายในร้านขายยา ซึ่งตอนนี้ยังมีราคาอยู่ที่ 250-300 บาท

แต่จากความหลากหลายยี่ห้อ ทั้งจีน เกาหลี สวิตเซอร์แลนด์ ยุโรป อเมริกาที่แล้วแต่ตัวแทนจำหน่ายจะนำสินค้าเข้ามาวางจำหน่าย ปัจจุบันข้อมูลจากเว็บไซต์กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารอละยา (อย.) รายงานรายชื่อชุดตรวจและน้ำยาสำหรับโควิด 19 (COVID-19)
ที่ได้รับการอนุญาตผลิตและนำเข้าแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.-22 ก.ค.จำนวน 40 รายการ

คนซื้องงวิธีการใช้-ร้านขายยาตอบไม่ถูก

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ผู้ประกอบการร้านขายยาแห่งหนึ่งในในภาคอีสาน ระบุว่า ส่วนใหญ่ชุดตตรวจ ATK ยังต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งหมด ขณะนี้ทั้งโรงพยาบาล และประชาชนมีความต้องการสูงมาก เรียกได้ว่ามีเท่าไหร่ก็ขายหมด จึงเกิดช่องทางใหม่ที่คนไทยมักจะชอบสั่งซื้อทางช่องทางออนไลน์ ต้นทางมาจากต่างประเทศ 

ผู้ประกอบการร้านขายยา บอกว่า ชุดตรวจของร้านที่รับจากร้านขายส่งมาอีกทีจำหน่ายราคาปลีก 300 บาทต่อ 1 ชุด ซึ่งก็ไม่มีภาษาไทยกำกับ รู้แต่เพียงว่าผู้ผลิตจากต่างประเทศจัดทำ 500 ชุดต่อกล่อง จึงต้องมาแบ่งใส่ถุงแยกขาย 5 ชุดต่อ 1 ถุง

มีชาวบ้านมาซื้อ และสอบถามวิธีการใช้ว่าตั้งเริ่มจากทำอะไรก่อน สวอปแบบไหน ลึกแค่ไหน เสร็จแล้วเขาจะเอาไปทำอย่างไรต่อ ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากกับวิธีการใช้ รู้สึกห่วงว่าถ้าเขาซื้อไปแล้วทำไม่ถูกต้อง อาจจะได้ผลลบ แต่ไม่ลบจริงเพราะตรวจไม่ถูก

ขอแนบเอกสารกำกับแบบฉลากยา

เธอยอมรับว่า ATK ที่รับมาแบ่งขายไม่มีเอกสาร และคำอธิบายการใช้เป็นภาษาไทย แนบมากับเครื่องมือหรือ ATK โดยตรง หากผู้ใช้เป็นแพทย์หรือพยาบาลก็จะทราบขั้นตอนดี แต่ถ้าเป็นประชาชนจะสับสนกับขั้นตอน การใช้ เพราะไม่มีรูปแสดงวิธีการ อุปกรณ์ และข้อความอธิบายภาษาไทย 

อนาคตถ้าเป็นไปได้ควรจะต้องมีการทำเอกสารกำกับยาใส่ในแต่ละชุดทดสอบ เพื่อให้ลูกค้าได้อ่านเอกสารก่อนใช้ เหมือนกับสลากยาอื่นๆที่ใส่ในซอง รวมทั้งการเก็บหรือแยกทำลายชุดตรวจให้ถูกวิธี 

ขณะที่เภสัชกรร้านขายยาแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออก กล่าวว่า มีลูกค้าที่ทำงานในโรงงานมาสอบถามหาชุดตรวจจำนวนมาก เพราะร้านอยู่กับรอยต่อพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา แหล่งนิคมอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาได้ติดต่อไปยังบริษัทที่ยื่นจดทะเบียนขอนำเข้าชุดตรวจกับทาง อย. เพราะต้องการสินค้ามาขขายให้ทันกับความต้องการของลูกค้า

แต่ด้วยความที่ไม่เคยซื้อขายมาก่อน บริษัทกำหนดให้ผู้รับซื้อต้องชำระเงินก่อน และต้องซื้อขั้นต่ำ 500 ชุดต้องใช้เงินลงทุน 140,000 บาท จึงเป็นการแบกรับค่าใช้จ่ายมากเกินไป ดังนั้นเลือกสั่งจากร้ายขายาในกทม.ครั้งละ 30 ชุด แต่ก็ไม่มีฉลากภาษาไทยกำกับ เพราะผลิตเครื่องมือแพทย์

ขายปลีก 1 ชุดยอมปริ้นเอกสารกำกับเอง

นอกจากนี้ไทยพีบีเอสออนไลน์ ลองสุ่มทดลองซื้อ ATK ยี่ห้อหนึ่งมาจากร้านขายยาในกทม.ราคา 350 บาท เจ้าของร้านขายยาจัดแยกใส่ซองยาสีชา ใน 1 ชุดจะมีตัวทดสอบ COVID-19 ATK Test ก้านเก็บตัวอย่าง หลอดน้ำยาสกัดเชื้อ และฝาจุกหลอด ใส่ถุงพลาสติกมิดชิดอีก 1 ชั้น

สิ่งที่ต่างจากร้านขายยาในต่างจังหวัด คือการปริ้นเอกสารขนาดเอ 4  ซึ่งเป็นคำอธิบายชุด ATK และขั้นตอนการใช้งานอย่างง่ายๆ รวม 11 ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การเตรียมทดสอบ การเก็บตัวอย่างที่ระดับความลึกของโพรงจมูก 1.5 ซม.จำนวน 10 ครั้ง และสิ้นสุดที่การอ่านผลทดสอบ 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ลองอ่านทำความเข้าใจ 2 ครั้ง ก่อนจะทดลองสุ่มตรวจเชื้อ COVID-19 ด้วยตัวเอง แน่นอนว่าถึงแม้จะพยายามทำความเข้าใจ แต่ด้วยเครื่องมือตรวจที่มีถึง 4 รายการใน 1 ชุดตรวจและต้องเปิดใช้ทีละขั้นตอน และความกังวลว่าจะตรวจได้ผลบวก ผลลบก็ทำให้เกิดความประหม่า ประกอบกับตัวหนังสือที่มีขนาดเล็ก ดังนั้นหากผู้ที่นำไปทดสอบเป็นผู้สูงอายุ อาจจะเกิดปัญหาได้

ถ้าตรวจไม่ถูกต้องผลลบ-คิดว่าไม่ติดเชื้อ

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เมื่อวานนี้ (22 ส.ค.) ตั้งข้อสังเกตว่า การดูตัวเลขรายงานเป็นทางการต้องดูอย่างมีวิจารณญาณ และตระหนักว่าโดยแท้จริงแล้วมีคนที่ใช้วิธีการตรวจแบบ ATK อีกจำนวนไม่น้อย ที่ได้ผลบวก และเข้าสู่การระบบการดูแลรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Home isolation ซึ่งจำนวนเหล่านั้นไม่ได้นำมารวมในรายงานอย่างเป็นทางการ

ดังนั้นจำนวนการติดเชื้อรายสัปดาห์ที่แท้จริง จึงมากกว่าที่รายงานอย่างเป็นทางการ และอาจมากกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าได้ ดังที่เห็นในรูปประกอบ ซึ่งนำจำนวนคนที่ตรวจผลบวกจาก ATK ในเดือนสิงหาคมมารวม จะพบว่าสถานการณ์การระบาดของไทยยังวิกฤต

การตรวจ ATK นั้น สิ่งที่เราควรระวังคือ ผลลบปลอม เพราะมีค่าความไวไม่สูงมาก แปลว่าติดเชื้อแต่ตรวจแล้วได้ผลลบ อาจเข้าใจผิดว่าไม่ติดเชื้อทั้งๆ ที่ติดเชื้อ และหากไม่ป้องกันตัวให้ดีก็จะแพร่ไปให้คนในบ้าน หรือคนอื่นๆ ในสังคมได้

ส่วนเรื่องผลบวกปลอมนั้น เกิดได้ แต่น้อยกว่าผลลบปลอม เพราะมีค่าความจำเพาะสูง เมื่อมีการนำ ATK มาใช้ในสถานการณ์ระบาดหนักแบบปัจจุบัน หากตรวจพบว่าเป็นผลบวกแล้ว โอกาสที่จะติดเชื้อจริงมีสูงมาก

การต่อสู้ในสถานการณ์การระบาดนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความพยายามที่จะต้องรวบรวมข้อมูลอย่างครบถ้วน ไม่ให้หลุด และเป็นปัจจุบันให้มากที่สุด เพราะจะส่งผลต่อการประเมิน เพื่อวางแผนนโยบายและมาตรการได้อย่างถูกต้องเหมาะสมสำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน

อ่านข่าวเพิ่ม เบรกจัดซื้อ! นายกฯ สั่งเร่งหาชุดตรวจ ATK ที่ WHO รับรอง

ปัจจัยที่ทำให้ผลการตรวจหาเชื้อจาก ATK ไม่ถูกต้อง

สอดคล้องกับข้อมูลจากเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่สรุปข้อมูลไว้เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ถึงปัจจัยที่ทำให้ผลการตรวจ COVID-19 ด้วย ATK  ไม่ถูกต้อง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้

ผลบวกปลอม (False Positive) เมื่อตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR แล้วไม่ได้ติดเชื้อ แต่ชุดตรวจแอนติเจนแบบเร็ว (Antigen Test Kit) แสดงผลการทดสอบเป็นบวก มีสาเหตุ ดังนี้

  • การปนเปื้อนจากพื้นที่ที่ทำการทดสอบลงบนอุปกรณ์ที่ใช้
  • การติดเชื้อไวรัสหรือจุลชีพอื่นๆ
  • ปฏิบัติตามขั้นตอนวิธีทดสอบไม่ถูกต้อง เช่น อ่านผลเกินเวลากำหนด
  • สภาพสิ่งตรวจไม่เหมาะสม
  • ชุดตรวจไม่ได้มาตรฐาน

ผลลบปลอม (False Negative) เมื่อตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR แล้วไม่ได้ติดเชื้อ แต่ชุดตรวจแอนติเจนแบบเร็ว (Antigen Test Kit) แสดงผลการทดสอบเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ) มีสาเหตุ ดังนี้

  • เพิ่งติดเชื้อในระยะแรก ร่างกายจึงยังมีปริมาณเชื้อไวรัสต่ำ
  • การเก็บสิ่งส่งตรวจไม่ถูกต้อง
  • ปฏิบัติตามขั้นตอนวิธีทดสอบไม่ถูกต้อง เช่น ไม่อ่านผลในช่วงเวลาที่กำหนด ปริมาณตัวอย่างที่หยดไม่เป็นไปตามที่กำหนด

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ระบุว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการเล็กน้อย หากผลตรวจไม่พบเชื้อ ให้ตรวจซ้ำ 3–5 วันถัดมา ระหว่างนี้ให้แยกกักตัว หากมีอาการรุนแรง ควรไปสถานพยาบาลเพื่อตรวจหาเชื้อด้วยวิธีมาตรฐานซ้ำอีกครั้ง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สภาเภสัชฯ จัดระบบ "ร้านยา" กระจาย ATK ให้กลุ่มเสี่ยงตรวจโควิดเอง

บอร์ด สปสช.อนุมัติซื้อชุดตรวจโควิด 8.5 ล้านชุด แจกประชาชน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง