"โรงเรียนต้องเปลี่ยนระบบการเรียนแบบอาหารจานเดียวเคี้ยวทั้งโรง" เมื่อระบบการเรียนการสอนของไทยยังเป็นเหมือนอาหารกลางวัน ไม่ได้พัฒนาตามศักยภาพและความถนัดของเด็กแต่ละคน เปรียบเทียบในทุก ๆ วันจะต้องมีเด็กที่เกิดความทุกข์ เพราะไม่ชอบเมนูที่โรงเรียนจัดสรรให้
ไทยพีบีเอสออนไลน์ พูดคุยกับ "เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป" กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก, นักเขียนหนังสือนิทานขวัญใจเด็ก ผู้ที่ทำงานและคลุกคลี่อยู่ในแวดวงการศึกษามาอย่างยาวนาน ในวันที่โรงเรียนเตรียมความพร้อมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 และมาตรการต่าง ๆ รองรับเปิดการเรียน ON-SITE ในภาคเรียนที่ 2 เดือน พ.ย.นี้
เรืองศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเรียนการสอนออนไลน์ เป็นไปตามสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กนักเรียนเป็นสำคัญ แต่ก็พบปัญหาทั้งเนื้อหาวิชาที่มากเกินไป เด็กไม่เข้าใจ ตามไม่ทันบทเรียน ขณะนี้ผู้ปกครองจำนวนมากที่ส่งลูกเรียนในโรงเรียนนานาชาติ ตัดสินใจให้ลูกลาออกและมาจัดการเรียนการสอนแบบโฮมสคูล ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะในขณะนี้รัฐไม่สามารถทำได้อย่างครอบคลุม
ตอนนี้ใครดิ้นอะไรได้ก็ต้องดิ้น เป็นความจริงที่ต้องยอมรับว่าคนที่มีเงินทำอะไรได้มากกว่า
ในการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาล ส่วนตัวไม่เห็นด้วยในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์และการจ้างครูมาสอน โดยเฉพาะสถานการณ์ COVID-19 เป็นช่วงเวลาที่ดีที่ลูกจะได้อยู่กับพ่อแม่ เรียกว่า "ได้เรียนรู้ชีวิต ไม่ติดกับวิชา" เพราะช่วงปฐมวัย เด็กควรได้เรียนรู้ทักษะชีวิตก่อน เช่น สอนให้ลูกช่วยทำงานบ้าน เก็บที่นอนตอนเช้า จัดโต๊ะอาหาร ล้างจาน กวาดถูบ้าน ยกตัวอย่างการสอนลูกพับผ้า จะได้เรียนรู้ทั้งรูปทรง ผิวสัมผัส การจัดวาง เป็นทักษะวิชาคณิตศาสตร์
ขอให้มั่นใจว่า พ่อแม่สามารถสอนเด็กปฐมวัยได้ รากฐานชีวิตของคน 5 ปีแรกเป็นวัยทองคำแท้
ขณะที่ชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา เป็นช่วงที่เด็กต้องเรียนในเชิงวิชาการ แต่การเรียนการสอนออนไลน์ควรจัดลำดับความสำคัญ และตัดบางเนื้อหาวิชาที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน อย่านำหลักสูตรเป็นตัวตั้ง แต่ต้องจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องสถานการณ์ COVID-19 ที่เด็กไม่สามารถกลับไปเรียน ON-SITE หรือการเรียนในโรงเรียนได้ตามปกติ
เรืองศักดิ์ มองสถานการณ์หลัง COVID-19 คลี่คลาย โดยกังวลว่า "เด็กติดจอ" จะเป็นปัญหาใหญ่มากใน 3-5 ปี ผู้ปกครองหลายคนได้ขอคำปรึกษาปัญหาลูกติดจอ เพราะต้องใช้มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่การเรียนออนไลน์ รวมทั้งช่วงเวลาพักดูคลิป หรือการ์ตูน
2 ลู่วิ่ง "วิชาชีพ-วิชาการ" ศักดิ์ศรีไม่ต่างกัน
เมื่อ COVID-19 ส่งผลให้วิถีการเรียนการสอนเปลี่ยนไปจากเดิม ควรใช้วิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสในการหาจุดกึ่งกลางระหว่างการทำโฮมสคูลที่เน้นทักษะชีวิต และการเรียนการสอนในโรงเรียน ที่ได้เปรียบในเรื่องทักษะการปรับตัวเข้าสังคมจากเพื่อน ชุมชน
"ระบบการศึกษาต้องมองให้ไกล ใจให้กว้าง แต่บ้านเรามองใกล้ ใจแคบ" จากเดิมการพัฒนาเด็กจะใช้เกณฑ์คุณภาพสังคม และคุณวุฒิสำหรับบุคคล ซึ่งที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับประเด็นหลังมากกว่า เน้นผลิตคนให้ได้ตามมาตรฐานตามหลักสูตร แต่ไม่ได้ดูถึงปลายทางคุณภาพของสังคม
อีกทั้งค่านิยมของไทยยังยกย่องวิชาการและปริญญาบัตร ต่อจากนี้ความคิดดังกล่าวจะเปลี่ยนไป โดยเด็กจะเรียนอะไรก็ได้ขอให้มีอาชีพสุจริต และเลี้ยงตัวเองได้ ยกตัวอย่างสายวิชาชีพ การขายของออนไลน์
เด็กควรมี 2 ลู่วิ่ง ระหว่างสายวิชาชีพ และสายวิชาการ ไทยต้องปรับให้ทันยุคสมัย ไม่ใช่นำเรื่องเกียรติยศศักดิ์ศรีของปริญญามาเป็นตัวตั้ง ยุคใหม่ต้องดูเรื่องความสามารถ
เรืองศักดิ์ เสนอว่า รัฐบาลต้องกลับมาทบทวนการจัดการศึกษาในไทย นำระบบการเรียนทั้ง 2 แบบมาหาจุดกึ่งกลางให้ได้ เพื่อหาความสมดุลระหว่างวิชาการและทักษะชีวิต โดยประเด็นหลังนั้นต้องมีทักษะการสังเกต, การคิดวิเคราะห์, การแก้ปัญหา, ความคิดสร้างสรรค์, การควบคุมตนเอง รู้ผิดชอบชั่วดี, การสอนเรื่องสังคม การปรับตัว ปฏิสัมพันธ์เชิงบวก, คุณธรรม, การช่วยเหลือและดูแลตัวเอง และทักษะการสื่อสาร ที่มีความสำคัญมาก ต้องสื่อสารให้ตรงกับความรู้สึกและความต้องการของตนเอง
การเปลี่ยนแปลงวงการการศึกษาไทย แม้จะเป็นเรื่องยากและอาจใช้เวลาอีก 10-20 ปี แต่ถึงเวลาที่ผู้บริหารและบุคคลในวงการต้องเริ่มขยับ หาจุดกึ่งกลางสายอาชีพ-วิชาการ และมองทักษะความสามารถมากกว่าใบปริญญา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"โฮมสคูล บับเบิ้ล" อีกทางเลือกการศึกษาช่วงโควิด
ครอบครัวโฮมสคูลแนะเลือกระบบการศึกษา สอดคล้องยุคโลกเปลี่ยน
"โฮมสคูล" ทางเลือกการศึกษา พัฒนาเด็กตามความถนัด-สนใจ