ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไขคำตอบ 3 ปัจจัยคันกั้นน้ำชั่วคราวเสียหาย อ่างลำเชียงไกร

ภัยพิบัติ
27 ก.ย. 64
12:12
3,632
Logo Thai PBS
ไขคำตอบ 3 ปัจจัยคันกั้นน้ำชั่วคราวเสียหาย อ่างลำเชียงไกร
นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิเคราะห์ 3 ปัจจัย คันกั้นน้ำชั่วคราวเสียหาย อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร จ.นครราชสีมา ชี้ขาดทางระบายน้ำช่วงที่สร้างคันกั้นน้ำชั่วคราว ปริมาณน้ำไหลลงอ่างสูงเกินปกติ และขาดข้อมูลน้ำฝนที่กระจายตามพื้นที่

วันนี้ (27 ก.ย.2564) ผศ.ดร.ณัฐ มาแจ้ง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Nat MJ" เกี่ยวกับอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร จ.นครราชสีมา ว่า

อ่างฯ ลำเชียงไกร ใช้คำว่า "แตก" หรือ "ไม่แตก" ขึ้นกับการกำหนดความหมายของคำว่าเขื่อนแตก (dam break) ครั้งนี้ส่วนที่แตก คือ คันกั้นน้ำชั่วคราว ที่ใช้สำหรับกั้นน้ำไม่ให้เข้าสู่พื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งกำลังก่อสร้างทางระบายน้ำล้นแบบควบคุมได้ (Gated Spillway) เพื่อให้สามารถควบคุมการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากเดิมที่เป็นการไหลล้นทางระบายน้ำแบบไม่มีประตูน้ำควบคุม ซึ่งต้องรอให้น้ำเต็มอ่างก่อนถึงจะสามารถระบายน้ำออกได้ โดยปัญหาการเกิดน้ำไหลออกจากอ่างฯ ลำเชียงไกร ผ่านรอยขาดของเขื่อนกั้นน้ำชั่วคราวนี้ น่าจะมีต้นเหตุมาจากหลายส่วน

เปิด 3 ต้นเหตุคันกั้นน้ำชั่วคราวแตก

1.ปกติการสร้างคันกั้นน้ำชั่วคราว ถ้าเป็นการปิดกั้นทางน้ำไหลจะต้องมีการสร้างทางระบายน้ำชั่วคราวไว้ แต่ในที่นี้อาจจะไม่ได้สร้างไว้ ทำให้เมื่อน้ำไหลเข้าอ่างจำนวนมากและน้ำในอ่างสูงกว่าระดับเก็บกักปกติ (โดยทั่วไปคือระดับสันทางระบายน้ำล้น) แต่น้ำยังออกไม่ได้ หรือระบายได้น้อยมากจากการระบายผ่านทางระบายน้ำลงลำน้ำเดิม (river outlet) ทำให้น้ำสูงขึ้นต่อเนื่องจนสูงกว่าระดับสันคันกั้นน้ำชั่วคราว และเกิดการไหลข้ามและกัดเซาะจนคันกั้นน้ำชั่วคราวมีช่องเปิดกว้างและไหลผ่านส่วนของอาคารระบายน้ำที่กำลังก่อสร้างและกัดเซาะข้างอาคาร ทางระบายน้ำล้นของอ่างเก็บน้ำที่ก่อสร้างแต่เดิมจำนวนมากจะเป็นแบบไม่มีอาคารควบคุม ซึ่งถ้ามีการปรับปรุงแบบนี้คงจะต้องใช้กรณีนี้เป็นตัวอย่างในการป้องกันเหตุนี้อีก โดยการเตรียมทางระบายน้ำช่วงที่ก่อสร้างไว้ด้วย

2. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างจำนวนมาก ซึ่งเมื่อวานนี้ (26 ก.ย.64) น้ำไหลลงอ่างในวันเดียวถึง 33.659 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าความจุอ่างซึ่งอยู่ที่ 27.7 ล้าน ลบ.ม. ถ้านับตั้งแต่ 1-27 ก.ย. 64 น้ำไหลเข้าอ่างฯ สะสม 112.443 ล้าน ลบ.ม. หรือ 4 เท่าของความจุอ่างฯ ซึ่งถือว่าเยอะมากๆ เมื่อย้อนดูปีที่แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.63 น้ำไหลลงอ่างรวม 139.619 ล้าน ลบ.ม. แต่ปี 62 ทั้งปี มีน้ำเข้าทั้งหมดเพียง 14.37 ล้าน ลบ.ม. ถือว่ามีความผันผวนของน้ำที่ไหลเข้าอ่างที่สูงมาก ๆ

3. ข้อมูลสถานีฝนที่ใช้ในการติดตามน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ยังจำกัด ทั้งประเทศมีสถานีที่วัดน้ำฝนปัจจุบันรวมประมาณ 1,149 สถานี แต่พอมาวิเคราะห์น้ำฝนที่ตกในพื้นที่ลุ่มน้ำเหนืออ่างฯ ลำเชียงไกร สะสม 3 วันถือว่าไม่มาก แม้สถานีที่อยู่ติดกับอ่างฯ ที่ อบต.หนองบัวละคร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ฝนสะสม 3 วัน (24-26 ก.ย. 64) มีเพียง 40.2 มม. และ 5 วันที่ผ่านมา 79.6 มม. หรือยังมีฝนตกที่ไม่สามารถตรวจวัดได้อีกจำนวนมาก (ถ้าสถานีวัดน้ำรายงานไม่ผิดพลาด) และข้าง ๆ จะเห็นลำสนธิ ซึ่งไม่มีข้อมูลฝนมาก แต่น้ำท่วมที่ลำสนธิผ่านอ่างฯ กุดตาเพชร ลงมาพื้นที่ตอนล่าง การขาดข้อมูลฝนนี้ ทำให้การคาดการณ์และเตรียมรับสถานการณ์ทำได้ไม่มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ สรุปการแตกของเขื่อนกั้นน้ำชั่วคราว คือ ขาดทางระบายน้ำในช่วงที่สร้างคันกั้นน้ำชั่วคราว ปริมาณน้ำไหลลงอ่างสูงมากผิดปกติ และขาดข้อมูลน้ำฝนที่กระจายตามพื้นที่ที่เห็นถึงฝนที่ตกหนัก

เฝ้าระวังน้ำจากห้วยสามบาท

ขณะที่โครงการชลประทานนครราชสีมา รายงานสถานการณ์เมื่อเวลา 09.30 น. ว่า เช้าวันนี้ (27 ก.ย.64) ระดับน้ำในอ่างฯ ลดลง 30 ซม. (เริ่มลดลงเวลา 01.00) และเหลือถึงระดับสันทำนบดินอ่างฯ 60 ซม. หรือหมายถึงปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างฯ ประมาณ 400-500 ลบ.ม. ต่อวินาที ปริมาณน้ำที่ไหลออกจากทุกช่องทาง (ช่อง river outlet ซ้าย/ขวา, กาลักน้ำ /สูบน้ำ, รถสูบซิ่ง, ทางระบายน้ำฉุกเฉินขวา (Emergency Spillway), และช่องบ่อก่อสร้าง ประตูระบายน้ำ( Service Spillway) จึงยังไม่ต้องตัดคันทำนบดินอ่างฯ จุดอื่นเพิ่มการระบายอีก

ระดับน้ำในอ่างฯ ทรงตัวและลดลง ทำให้ไม่เกิดล้นข้ามทำนบดินสันของอ่าง ในลักษณะพังทลาย หรือเขื่อนแตก สามารถบริหารน้ำออกอ่างฯ ให้มากกว่าหรือเท่ากับน้ำเข้าอ่างฯ รักษาความปลอดภัยเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ พ้นวิกฤติ และบรรเทาความเสียหายด้านท้ายน้ำ

อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำที่ยังคงไหลลงมาจากตอนบน ห้วยสามบาท ที่ไหลลงมาอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่แตก! “ลำเชียงไกร” ทำนบคันดินพังน้ำเข้าอ่างมากเกิน 151% 

แจ้งเตือนระดับสีส้ม "อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร" น้ำเกิน 100 % สั่งเฝ้าระวัง - เตรียมพร้อมหากอพยพ 

เตือนประชาชน เฝ้าระวังผลกระทบระดับ "น้ำชี-มูล" เพิ่มสูง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง