ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

3 เดือนเส้นทาง ATK "Lepu" กับคุณภาพที่ถูกกังขา

สังคม
7 ต.ค. 64
14:37
5,913
Logo Thai PBS
3 เดือนเส้นทาง ATK "Lepu" กับคุณภาพที่ถูกกังขา
ไทยพีบีเอสออนไลน์ ย้อนไทม์ไลน์ชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ "Lepu" 8.5 ล้านชิ้น ยังถูกตั้งคำถามและกังขาคุณภาพการตรวจหาเชื้อโควิด ห่วงผลลวงสูง ล่าสุดแจกแล้ว 4.9 แสนชิ้น

ข้อกังขามาตรฐานและความแม่นยำของชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) ยี่ห้อ "Lepu" ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลัง นพ.จรัสพงษ์ สุขกรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ออกมาแถลงถึงโรงพยาบาลทุกแห่งในพื้นที่ งดใช้ชุดตรวจ ATK ยี่ห้อดังกล่าวกับกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง หลังพบค่าเบี่ยงเบนสูง

ก่อนหน้านี้ มีการใช้ ATK ยี่ห้อนี้ ตรวจพบผู้ติดเชื้อ 187 คน แต่เมื่อนำผู้ติดเชื้อทั้งหมดเข้าระบบ RT-PCR กลับพบผลบวกเพียง 92 คนเท่านั้น จึงไม่ปลอดภัยกับการนำมาใช้ตรวจกลุ่มเสี่ยงสูง แต่ชาวบ้านทั่วไปยังใช้ชุดตรวจนี้

 

ต่อมาวันที่ 6 ต.ค.2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ชี้แจงว่า เรื่องนี้เกิดจากการสื่อสารที่อาจไม่ถูกต้อง "Miscommunication" ซึ่ง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แจ้งแล้วว่าไม่ได้ห้ามใช้ชุดตรวจนี้

นายอนุทิน ระบุอีกว่า ได้บอก สสจ.นครศรีธรรมราช แล้วว่า ข้อมูลที่แถลงมานั้นไม่น่าจะถูกต้อง ซึ่ง สสจ.นครศรีธรรมราช แจ้งว่าจะไปแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง พร้อมยืนยันว่ายังใช้ต่อไป

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ย้อนไทม์ไลน์การจัดหา ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด เริ่มจากการแพร่ระบาด COVID-19 ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มสูงสุด

19 ก.ค.2564 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีมติเห็นชอบเพิ่มชุดตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ด้วย ATK ในวงเงินเบื้องต้น 1,014 ล้านบาท เพื่อจัดหาชุดตรวจให้หน่วยบริการนำไปแจกจ่ายกับประชาชน


9 ส.ค.2564 นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า องค์การเภสัชกรรมได้รับมอบหมายจากโรงพยาบาลราชวิถี ให้จัดหาชุดตรวจ COVID-19 แบบ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ตามโครงการพิเศษของ สปสช. สำหรับใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

สปสช.ได้ปรับข้อกำหนดคุณสมบัติ (Spec) ส่งให้ อภ.ดำเนินการจัดหา โดยเชิญบริษัทที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มายื่นซองเสนอราคา ในวันที่ 10 ส.ค.2564 ซึ่ง อภ.จะตรวจสอบรายละเอียดคุณสมบัติต่าง ๆ และประกาศบริษัทผู้ชนะการเสนอราคา พร้อมส่งให้โรงพยาบาลราชวิถี รับทราบราคา

11 ส.ค.2564 อภ.เปิดเผยว่า ได้บริษัทจัดซื้อชุดตรวจ ATK เสนอราคาต่ำกว่างบฯ ที่ตั้งไว้ 400 ล้านบาท หรือราคาตกอยู่ที่ชุดละ 70 บาท ผ่านไปเพียง 1 วัน ชมรมแพทย์ชนบท ออกมาคัดค้าน ATK ที่ชนะประมูล และขอให้ยุติจัดซื้อ ระบุผลตรวจไม่แม่นยำ และ อย.สหรัฐฯ เรียกเก็บชุดตรวจออกจากตลาด ซึ่ง อภ.สั่งชะลอการทำสัญญาซื้อ รอผลตรวจสอบคุณภาพ

13 ส.ค.2564 นพ.ไพศาล ดั่นคุม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมาแถลง ยืนยันไม่มีการล็อกสเปกดีล ATK ขั้นตอนทดสอบทางคลินิกผ่าน และ อย.รับรองรายการที่ 4 ด้านชมรมแพทย์ชนบท แถลงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ และ ระดมทีมเดินหน้าตรวจสอบ ATK ที่ยังมีข้อกังขาดังกล่าว

16 ส.ค.2564 อภ.ยืนยันจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชิ้น ตามเนื้อหาหลักใน TOR ที่ สปสช.กำหนด ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO)

17 ส.ค.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการในการประชุม ครม. เร่งหาชุดตรวจ ATK ที่ WHO รับรอง

บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ผู้นำเข้าชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ LEPU ที่ชนะการประมูล ส่งหนังสือเปิดผนึก ขอให้ทบทวนคำสั่งเบรกจัดซื้อ ระบุในการประมูลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่า ต้องผ่าน WHO สุดท้ายกลับนายกรัฐมนตรี กลับลำแก้ข้อสั่งการ เป็น "ไม่ต้องผ่านมาตรฐาน WHO เพราะใช้ตรวจ COVID-19 แบบ home use"

 

30 ส.ค.2564 อภ.ลงนามสัญญาซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด และ ATK ล็อตแรก 3 ล้านชิ้น มาถึงไทยในวันที่ 10 ก.ย.2564 โดยเริ่มแจกให้กลุ่มเสี่ยง 16 ก.ย.2564

ล่าสุด สปสช.เปิดเผยข้อมูล ณ วันที่ 6 ต.ค.2564 เวลา 15.00 น. แจก ATK ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงตรวจ COVID-19 ด้วยตนเองแล้ว 494,264 ชุด กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการตรวจ แบ่งเป็นกลุ่มที่มีอาการ 130,897 คน พื้นที่เสี่ยง 223,903 คน กลุ่มที่ใกล้ชิดผู้ป่วย 228,995 คน โดยมีประชาชนบันทึกผลแล้ว 163,427 ชุด พบผลบวก 1,183 คน อยู่ในกรุงเทพฯ มากที่สุด 416 คน

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง