ถ้าอากาศดีไลเคนอยู่ ถ้าอากาศเสีย ไลเคนตาย
ไลเคน หรือสิ่งมีชีวิตเกาะตามต้นไม้ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้และทดลองวิทยาศาสตร์เรื่องฝุ่นของครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านปิน ปินประชาราษฎร์ ต.บ้านปีน อ.ลอง จ.แพร่ เพื่อประเมินสภาพอากาศในพื้นที่

แว่นขยายและกระบอกฉีดน้ำคืออาวุธการเรียนรู้ชีวิตไลเคนบนต้นไม้ชิ้นสำคัญที่นางณัจยา วงศ์ดาว และครูวรรณิกา ดอกจันทร์ ครูโรงเรียนบ้านปิน ปินประชาราษฎร์ นำทีมเหล่านักเรียนไปเช็กสภาพฝุ่น
ถ้าไลเคนเป็นสีเขียว แสดงว่าอากาศโดยรอบดี แต่ถ้าไลเคนเป็นสีแดง หรือน้ำตาลแสดงว่ามลพิษในอากาศมาก
หลังทำกิจกรรมนี้นอกจากเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้เรื่องการวัดค่าฝุ่นผ่านไลเคนแล้ว ยังสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนช่วยกันลดฝุ่น และส่งต่อแนวคิดรักษาสิ่งแวดล้อมไปในครอบครัวจนถึงชุมชน เพื่อดูแลสุขภาพตัวเองและสุขภาพสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วย


ไม่ใช่เพียงวิชาวิทยาศาสตร์เท่านั้นแต่โรงเรียนบ้านปินยังมีกิจกรรมสร้างการเรียนรู้เรื่องฝุ่นผ่านนวัตกรรมทั้งโครงงานผ้าม่านดักฝุ่น เปลี่ยนผ้าม่านธรรมดาให้ดักจับฝุ่นลดการกระจายละอองในอากาศ ก่อนจะนำมาทดสอบปริมาณฝุ่นในห้อง
ขณะเดียวกันยังร่วมกับชุมชนในพื้นที่ลดการเผา ด้วยการนำไม้ไผ่มาประยุกต์เป็นแก้ว หลอด และช้อนส้อม สร้างรายได้ให้ชุมชน และสร้างชั่วโมงสมาธิให้กลุ่มนักเรียนพิเศษ

โรงเรียนบ้านปิน ปินประชาราษฎร์ คือ 1 ในโรงเรียน จ.แพร่ ที่เข้าร่วมโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นจากความร่วมมือของ สสส.และเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ไปจนถึงประชาชน เพื่อสร้าง Active learning สู่ Active Citizen
จากความสำเร็จของโครงการในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แพร่ และแม่ฮ่องสอน รวม 30 โรงเรียน ในปี 2563 ทำให้ในปีนี้ทุกฝ่ายตั้งเป้าเดินหน้าห้องเรียนสู้ฝุ่นเพิ่มในโรงเรียนอีก 110 แห่งทั่วประเทศ
ไทยจับมือลาวสร้างห้องเรียนสู้ฝุ่นชายแดน
นพ.พรเทพ สิริวนารังสรรค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และ นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ระบุว่าโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นประสบความสำเร็จในการสร้างองค์ความรู้ให้นักเรียนนำไปบอกต่อสู่ชุมชน ทำให้ สสส.ร่วมกับเครือข่ายตั้งเป้าเดินหน้าห้องเรียนสู้ฝุ่นเพิ่มเป็น 140 แห่ง

สำหรับภาคเหนือตอนบน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน น่าน และพะเยา รวม 50 โรงเรียน ขับเคลื่อนผ่านสภาลมหายใจภาคเหนือและสภาลมหายใจของแต่ละจังหวัด
ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น และอุดรธานี รวม 20 โรงเรียน ขับเคลื่อนผ่านองค์การบริหารส่วนจังหวัด
ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าแม้จะแก้ไขปัญหาในประเทศแล้ว แต่ไทยยังต้องเผชิญกับฝุ่นจากเพื่อนบ้านอยู่ ดังนั้น จึงยังสร้างเครือข่ายโรงเรียนตามแนวชายแดนประเทศไทย-ลาว รวม 10 โรงเรียน ขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการความร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไปไทย–ลาว กองทัพภาคที่ 3
สสส.ร่วมกับเครือข่ายประสานโรงเรียนในลาว 10 แห่งเป็นโมเดลห้องเรียนสู้ฝุ่น โดยปรับหลักสูตรเป็นภาษาลาว เพื่อสร้างความเข้าใจในวิกฤต PM2.5 เพื่อลดมลพิษจากเพื่อนบ้านอีกทาง
เสวนา ผอ.-ครู สร้างองค์ความรู้สู่ห้องเรียนสู้ฝุ่น
ขณะที่ในวันนี้ (10 ธ.ค.2564) ผศ.ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล ที่ปรึกษาโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น สสส. นำทีมเสวนาเชิงปฏิบัติให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ครูและผู้อำนวยการที่เข้าร่วมจากกว่า 10 โรงเรียนในภาคเหนือ ผ่าน 10 ฐานความรู้
ไฮต์ไลต์ในวันนี้คือการยกห้องปลอดฝุ่นของจริง มาไว้ให้ทุกคนได้เห็นจากทีมวิศวกรมืออาชีพที่มาอธิบายกระบวนการทำงานของห้องด้วยการนำพัดลมเติมอากาศและกรองฝุ่นมาช่วยพัดอากาศสะอาดที่มีฝุ่น PM2.5 น้อยเข้ามาในห้องส่วนชุดพัดลมดูดอากาศจะช่วยสร้างความดันภายในเป็นบวกเทียบกับภายนอก

อีกไฮต์ไลต์สำคัญคือ ฐานยักษ์ขาว บอกต่อวิธีดูค่าฝุ่นและแจ้งเตือนในโรงเรียนหากมีระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จะช่วยให้โรงเรียนปรับมาตรการป้องกันฝุ่นได้ทันท่วงที โดยเฉพาะการงดกิจกรรมกลางแจ้ง
สสส.ยังได้เปิดตัวแอปพลิเคชันห้องเรียนสู้ฝุ่น ซึ่งเปิดให้ประชาชนได้ดาวน์โหลดใช้งาน และเป็นอีกเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้เรื่องฝุ่น โดยมีฟังชันก์การเช็กค่าฝุ่น เช็กจุดฮอตสปอตที่เกิดไฟป่าในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้และประเมินอากาศรอบตัวได้

ขณะเดียวกันนักเรียนสามารถแสดงความรู้สึกถึงอากาศในพื้นที่ตัวเอง และส่งข่าวและอ่านข่าวเกี่ยวกับฝุ่นผ่านแอปพลิเคชันได้อีกด้วย
ศธ.พิจารณาห้องเรียนสู้ฝุ่นบรรจุเป็นหลักสูตร
ขณะที่นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ ระบุว่า โรงเรียนใน จ.ลำพูน มีมาตรการการรับมือกับปัญหาฝุ่น PM2.5 อาทิ มาตรการติดตามคุณภาพอากาศแบบวันต่อวัน เมื่อพบค่าฝุ่นที่อันตราย ครูจะประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนสวมใส่หน้ากาก N95 สำหรับวิชาที่ต้องเรียนกลางแจ้งเปลี่ยนมาเรียนในห้องเรียนแทน
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการอยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ของ สสส. เพื่อบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอน เป็นการเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในกรณีค่าฝุ่นส่งผลต่อสุขภาพ พร้อมพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ รวมถึงติดตั้งเครื่องฟอกอากาศให้ทุกชั้นเรียน ตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อใช้สำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียนที่เกิดวิฤตฝุ่น PM2.5
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
วินิจฉัยโรคฝุ่นเชิงรุกชาวลำพูน 1,000 คน รู้ผลปอด-ภูมิแพ้ใน 1 ชั่วโมง